วีนัส เทพีแห่งความรัก เทพีแห่งความงาม

อโฟรไดท์ หรือ วีนัส เป็นเทพเจ้าแห่งความรัก ความปรารถนา และความงาม ของกรีก ชื่ออื่นๆ ที่เรียกนอกจากนี้คือ “ไคพริส” (Kypris) “ไซธีเรีย” (Cytherea) ซึ่งเรียกตามสถานที่ ไซปรัส และ ไซธีรา ซึ่งเชื่อว่า เป็นที่เกิดของอโฟรไดท์ ในส่วนของศักดิ์สิทธิประจำตัวของอโฟรไดท์ คือ ต้นเมอร์เติล (Myrtle) นกพิราบ นกกระจอก และ หงส์ โดย เทพีอโฟรไดท์ เทียบได้กับ เทพีวีนัส ในตำนานเทพเจ้าโรมัน

เทพีวีนัส

เทพีอโฟรไดท์ (Aphrodite) หรือ วีนัส (Venus) เป็น เทวีแห่งความรัก และความงาม สามารถสะกดเทพ และ มนุษย์ทั้งปวง ให้ลุ่มหลง โดยอาจทำให้สติปัญญาของผู้ฉลาดตกอยู่ในความโฉดเขลา

เทพีวีนัส

หากจะสืบสาวต้นกำเนิดของอโฟรไดท์ ที่อาจต้องสืบสาวไปไกลกว่าตำนานของกรีกเสียอีก เนื่องจากเทวี มีต้นกำเนิด มาจากดินแดน ซีกโลกตะวันออก ว่ากันว่าเป็นเทวีองค์แรกเริ่มของชนชาติฟีนีเซีย ที่มาตั้งอาณานิคมมากมายในดินแดนตะวันออก และ แถบตะวันออกกลาง ทราบกันมาว่า เทวีอโฟร์ไดท์เป็นองค์เดียวกับเทวีของชาวอัสสิเรีย กับบาบิโลเนีย ที่มีนามว่า อีชตาร์ (Ishtar) และก็ยังเป็น องค์เดียวกับ เทวีของชาวไซโร-ฟีนิเซี่ยน ผู้มีนามว่า แอสตาร์เต (Astarte) จึงนับได้ว่าเป็น เทวีที่มีความสำคัญมาก มาแต่โบราณ

ตามมหากาพย์อิเลียดของโฮเมอร์ เทวีอโฟรไดท์ ที่เป็นเทพธิดาของซุส เกิดกับนางอัปสร ไดโอนี (Dione) แต่บทกวีนิพนธ์ ชิ้นหลัง ๆ กล่าวว่า เทวีผุดขึ้นจากฟองทะเล เนื่องจากคำว่า Aphros ใน ภาษากรีกแปลว่า “ฟอง” แหล่งกำเนิดของเทวีอยู่ในทะเลแถว ๆ เกาะไซเธอรา (Cythera) จากนั้น เทวีก็ถูก คลื่นซัดไปจนถึงเกาะ ไซพรัส (Cyprus) ด้วยเหตุนี้ เกาะทั้งสองจึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เกี่ยวกับ เทวีอโฟรไดท์ และบางทีเทวีก็มีชื่อเรียก ตามชื่อเกาะทั้งสองนี้ว่า ไซเธอเรีย (Cytherea) และ ไซเพรียน (Cyprian)

ตามเรื่องที่เล่ากันแพร่หลายกล่าวว่า เมื่อเทวีอโฟรไดท์ ถูกคลื่นซัดไปติด ณ เกาะไซพรัส นั้น ฤดูเทวี ผู้รักษาทวาร แห่งเขาโอลิมปัส ลงมารับเทวีอโฟรไดท์ ขึ้นไปยังเทพสภา เทพทุกคนในที่นั้นต่างตกตะลึงในความงามของเทวี และ ต่างองค์ต่างก็อยากได้มาเป็นคู่ครอง แม้แต่ซุสเองก็อยากจะได้ แต่เทวีไม่ยินดีด้วย ซุสจึงโปรดประทาน เทวีให้แก่ ฮีฟีสทัส (Hephaestus) เป็นบำเหน็จรางวัลทดแทนความชอบ ในการที่ฮีฟีสทัส ประกอบ อสนียบาต ถวาย และ ถือเป็นการลงโทษ เทวีในเหตุที่ไม่ไยดีซุสไปในตัวด้วย เพราะฮีฟีสทัส เป็นเทพพิการ แต่เทพองค์แรกที่เทวีพิศวาส และร่วมอภิรมย์ด้วยกลับเป็น เอรีส (Ares) หรือ มาร์ส (Mars) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการสงคราม ซึ่งได้เป็นชู้สู่หากับเทวี อโฟรไดท์ จนให้ประสูติบุตรสอง ธิดาหนึ่ง มีนามตามลำดับว่า อีรอส (Eros) หรือ คิวพิด (Cupid) แอนติรอส (Anteros) และ เฮอร์ไมโอนี (Hermione) หรือ ฮาร์โมเนีย (Harmonia) นางเฮอร์ไมโอนีนั้นได้วิวาห์กับ แคดมัส (Cadmus) ผู้สร้างเมืองธีบส์ ซึ่งเป็นพี่ของนางยุโรปา ผู้ถูกซุสลักพาไป เป็นคู่ร่วมอภิรมย์

เรื่องราวความรัก ของเทวีแห่งความงาม และความรักอโฟร์ไดท์ ไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เทวีได้หว่าน เสน่ห์ไปทั่ว ไม่ว่าเทพ หรือ มนุษย์ อาทิเช่น การมีจิตปฏิพัทธ์ เสน่หากับ เทพเฮอร์มีส จนเกิดมีโอรสองค์หนึ่งนามว่า เฮอร์มาโฟร์ดิทัส (Hermahroditus) ในด้านของมนุษย์ เทวีอโฟร์ไดท์ ยังเคยแอบไปมี จิตพิศวาส กับบุรุษเดินดิน เช่น ไปชอบพอกับ เจ้าชายชาวโทรจัน นามว่า แอนคิซีส (Anchises) จนมีโอรสครึ่งเทพครึ่งมนุษย์ออกมานามว่า เอนิแอส (Aenias) ผู้เป็นต้นตระกลูของชาวโรมันทั้งหมด

ที่อื้อฉาวฮือฮามากที่สุดได้แก่ การไปแอบรัก สุดหล่อแห่งยุคคือ อโดนิส โดยวันหนึ่ง เทวีอโฟรไดท์ เล่นหัวหยอกล้ออยู่กับอีรอส บังเอิญถูกศร ของอีรอสซึ่งถืออยู่สะกิดที่อุระ ถึงแม้ว่า จะเป็นแผลเพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นการเพียงพอที่จะทำให้ตกอยู่ในอำนาจพิษศรของบุตรได้ ยังมิทันที่แผลจะเหือดหาย เทวีก็ได้พบกับ อโดนิส (Adonis) มานพหนุ่มพเนจรอยู่ในราวป่า ให้บังเกิด ความพิสมัย จนไม่อาจระงับ ยับยั้งอยู่ในสวรรค์ได้ เทวีจึงลงมาจากสวรรค์ มาพเนจรติดสอยห้อยตาม อโดนิส หมายที่จะได้ใกล้ชิด ซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะไปทางไหนทวี ก็จะตามไปด้วย เทวีอโฟรไดท์หลงใหล และ เป็นห่วงอโดนิส จนลืมสถานที่ที่เคยโปรด เที่ยวติดตาม อโดนิส ไปในราวป่า คอยตักเตือน และ กำชับอโดนิส ในเวลาล่าสัตว์ มิให้หักหาญ เสี่ยงอันตรายมากนัก ให้หลีกเลี่ยงสัตว์ใหญ่ ล่าแต่สัตว์เล็ก ชนิดที่พอจะล่าได้เท่านั้น ตลอดเวลาที่เฝ้าติดตาม เทวีพะเน้าพะนอเอาใจ อโดนิส ด้วยประการทั้งปวง แต่ความรักของเทวีที่มีต่ออโดนิส เป็นความรักข้างเดียว เจ้าหนุ่มหาได้รักตอบไม่ อาจเป็นเพราะอีรอสไม่ได้แผลงศรรักกับอโดนิส ด้วยเหตุนี้อโดนิสจึงไม่แยแส ต่อคำกำชับตักเตือนของเทวี คงเที่ยวล่าสัตว์ใหญ่น้อยเรื่อยไป ตามใจชอบ วันหนึ่งเทวีอโฟรไดท์ มีธุระต้องจากไป จึงเหาะไปในนภากาศ ฝ่ายอโดนิสพบหมูป่าแสนดุร้ายเข้าตัวหนึ่ง (บางตำนานเล่าว่าหมูป่าตัวนี้ เกิดจากการเสกจำแลงของ เทพเอเรส เนื่องจากหึงหวงความรัก ที่เทวีอโฟรไดท์มีให้แก่ อโดนิส) และ ตามล่ามันไปจนหมูป่าจนมุมแล้ว อโดนิสก็ ซัดหอกไปถูกหมูป่า แต่หอกพลาดที่สำคัญ หมูป่าได้รับความเจ็บปวด จึงเพิ่มความดุร้ายยิ่งขึ้น จึงรี่เข้าขวิดอโดนิส ล้มลงถึงแก่ความตาย

เทวีอโฟรไดท์_อโดนิส

เทวีอโฟรไดท์ ได้ยินเสียงร้องของ อโดนิส จึงกลับลงมา ยังพื้นปฐพี และตรงเข้าจุมพิต อโดนิสซึ่งกำลังจะสิ้นใจ ครั้นแล้วก็ครวญคร่ำรำพันพิลาปพิไร ด้วยสุดแสน อาลัยรัก ตามวิสัยผู้ที่คลุ้มคลั่ง เทวีรำพันตัดพ้อ เทวีครองชะตากรรม ที่ด่วนเด็ดชีวิต ผู้เป็นที่รัก ให้พรากจากไป พอค่อยหายโศกแล้ว เทวีจึงออกปณิธานว่า “ถึงมาตรว่า ดังนั้นก็อย่าหมายเลยว่า ผู้เป็นที่รักแห่งข้าจะต้องอยู่ ในยมโลกตลอดกาล หยาดโลหิต ของอโดนิส แก้วตาข้า จงกลายเป็น บุปผชาติชนิดหนึ่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์ความโศกของข้า ให้ข้าได้ระลึก ถึงวาระเศร้าสลดครั้งนี้ เป็นประจำปีเถิด” เมื่อบอกปณิธานดังนั้นแล้ว เทวีก็พรมน้ำ ต่อเกสรอันศักดิ์สิทธิ์ ลงบนหยาดโลหิตของอโดนิส บัดดล ก็มีพันธุ์ไม้ดอกสีแดงเลือด ดังสีทับทิมผุดขึ้น ดังมีชื่อเรียกกันสืบๆ มาว่า ดอกอโดนิส หรือ ดอกเออะเนมโมนิ (Anemone) แปลว่า ดอกตามลม (บางตำนานว่าก็คือ ดอกกุหลาบนั่นเอง)

วิหารของเทพีอโฟร์ไดท์ที่ Caria

แรกเริ่มเดิมที ก่อนที่จะกลายเป็น เทวีแห่งความงาม และ ความรักนั้น อโฟร์ไดท์ เป็นเทวี แห่งความสมบูรณ์มาก่อน เมืองที่นับถือเทวีมากที่สุดได้แก่ เมืองปาฟอส ในไซปรัส และเมืองไซธีรา ในเกาะครีต นอกจากนั้น วิหารที่เล่าลือ ว่าโอ่อ่าที่สุดของซีกโลก ทางด้านตะวันออกได้แก่ วิหารที่เมืองคนิดุส ในรัฐแคเรีย (Caria) เมื่อเดินทางมาถึง กรีกก็มีผู้ศรัทธาเชื่อถือสร้างวิหารใหญ่ให้หลายแห่ง รวมทั้งกรุงเอเธนส์ซึ่งมีเทวีเอเธน่าเป็นเทพอุปถัมภ์อยู่แล้ว ได้กล่าวว่า อโฟรไดท์ เป็นเทวีที่ชาวกรีก และโรมันโบราณ ถือว่าเกี่ยวข้อง กับความเป็นอยู่ ของมนุษย์มากที่สุด เนื่องจาก เป็นเทวีแห่งความรักและความงาม และความงามกับความรัก ก็เป็นสิ่งที่จับใจคนมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ เทวีจึงมักเป็นที่เทิดทูน และกล่าวขวัญในวิจิตรศิลป์และวรรณคดีต่าง ๆ นอกจากนั้น ชาวกรีก และโรมัน ยังถือว่าเทวี เป็นเทวีครองความมีลูกดก และการให้กำเนิดทารกอีกด้วย

มีคติความเชื่อประการหนึ่ง ซึ่งอย่างน้อย ก็ยังพูดกันติดปากชาวตะวันตก มาจนถึงปัจจุบันนี้ว่า ทารกถือกำเนิด เพราะนกกระสานำมา คตินี้สืบเนื่องจาก ข้อยึดถือของชาวกรีกและโรมัน มาแต่เดิมเหมือนกัน ในเทพปกรณัม กล่าวว่า นกกระสาเป็นนกคู่บารมี ของอโฟรไดท์ คราวใดมีนกกระสาผัวเมีย ไปทำรังอยู่บนยอดหลังคาบ้านใด ก็หมายความว่าเทวีอโฟรไดท์โปรดให้ครอบครัวในบ้านนั้นมีลูก และจะประสบแต่ความรุ่งเรือง

ในยุโรป โดยเฉพาะภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ถือนกกระสาประหนึ่งที่เคารพเลยทีเดียว ในเยอรมัน และเนเธอร์แลนด์ ถือว่านกกระสาเป็นนก ที่นำโชคลาภมาให้ ดังนั้นชาวเยอรมัน และเนเธอร์แลนด์ จึงยินดีที่จะให้นกกระสา มาทำรัง บนหลังคาบ้านเสมอ ยิ่งอาศัยอยู่นานเท่าใด ก็ยิ่งเป็นมงคลแก่บ้านนานเท่านั้น นกกระสาจึงเป็นที่กล่าวขวัญถึง อย่างสำคัญ ตามเทพนิยาย นิทานชาวบ้าน และ นิทานเทียบสุภาษิตต่าง ๆ ของฝรั่งด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้

อนึ่งชาวยุโรปทั่วไปเชื่อกันมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษว่า ในคราวที่บ้านหนึ่งบ้านใดกำลังจะมีเด็ก เทวีอโฟรไดท์ จะให้นกกระสา มาบินวนเวียนเหนือบ้านนั้น คตินี้กินความไปถึงว่า ถ้านกกระสาบินวนเหนือบ้านที่กำลังจะมีเด็กเกิด เด็กคนนั้น จะคลอดออกจากครรภ์โดยง่าย และอยู่รอดด้วย แต่คตินี้ในที่สุดก็เป็นเพียงข้ออ้างที่พ่อแม่ จะใช้ตอบลูกตอนโต ๆ เมื่อถูกถามว่าน้องเล็กเกิดมาจากไหน หรือตัวเองเกิดจากอะไรเท่านั้น

เทวีอโฟร์ไดท์มีต้นเมอร์เทิล เป็นพฤกษาประจำองค์ สัตว์เลี้ยงของเทวีเป็นนก บ้างว่าเป็นนกเขา นกกระจอกบ้าง หงส์บ้าง ตามแต่กวีคนไหนจะชอบใจยกให้เป็นสัญลักษณ์ของเทวีแห่งความงามและความรัก