รู้ไปโม้ด : ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า (ตอนแรก)

เรียนถามน้าชาติ พระพุทธเจ้าปรินิพพานอย่างไร ประชวรเป็นอะไรครับ ที่ว่าเพราะเนื้อสุกรจริงไหม

ชาวพุทธ

ตอบ ชาวพุทธ

เมล์ข้อความนี้มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว น้าชาตินำมาตอบเนื่องในวันวิสาขาบูชา อันประวัติบันทึกว่า เป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในศาสนาพุทธ 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระโคตม พุทธเจ้า

โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า วิสาขบูชา ย่อมาจาก วิสาขปุรณมีบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย และมักตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน

คำตอบสรุปมาจากบทความเรื่อง “พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร” โดยราชบัณฑิต เสฐียร พงษ์ วรรณปก ในมติชนสุดสัปดาห์ ว่า ณ ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี พระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขารว่า อีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรินิพพาน จากนั้นเสด็จไปตามลำดับ คือ ป่ามหาวัน-ภัณฑคาม-หัตถีคาม-อัมพคาม-โภคนคร จากนั้นเสด็จเข้าสู่เขตเมืองปาวา (เสวยสูกรมัททวะของนายจุนทะ) เสด็จต่อไปยังกุสินารา โดยผ่านแม่น้ำกกุธา เลียบฝั่งน้ำหิรัญวดี
เสด็จถึงสาลวโนทยาน พระอุทยานหลวงของเหล่ามัลลกษัตริย์ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นั้น ตามเวลาที่ทรงกำหนด

โดยที่ก่อนหน้านั้น พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่เวฬุวคาม ซึ่งอยู่ในเขตเมืองไพศาลี ออกพรรษาแล้ว อรรถกถาบอกว่า พระองค์เสด็จนิวัติพระนครสาวัตถี พระสารีบุตรไปทูลลาที่นั่น เพื่อไปนิพพานที่บ้านเกิดของท่าน หลังจากนั้นก็เสด็จไปเมืองราชคฤห์อีก ผ่านหลายสถานที่ ซึ่งต้องกินเวลาไม่น้อย เพราะทรงประชวรด้วย ย่อมต้องพักผ่อน ณ สถานที่ต่างๆ แห่งละนานพอสมควร

ทั้งนี้ ตามหลักฐานแสดงว่า 1.หลังออกพรรษากลางเดือน 11 ก็เสด็จไปสาวัตถีและราชคฤห์ คงระหว่างกลางเดือน 11 ถึงเดือน 2 (เดือนยี่) พอเดือน 3 คงเสด็จมาประทับที่ปาวาลเจดีย์แล้ว การปลงอายุสังขารก็คงเป็นเดือน 3 แน่นอน เพราะทรงระบุไว้ว่าอีก 3 เดือนข้างหน้า (ตกเดือน 6 พอดี) จะปรินิพพาน 2.วันปรินิพพานคือวันเพ็ญเดือน 6 ตามพระบาลีบันทึกไว้แน่นอน 3.ไม่มีทางเป็นอื่น วันเวลานี้เชื่อถือกันทั่วโลกพระพุทธศาสนามานานไม่มีใครสงสัย

เดือน 6 อาจมิใช่เดือนที่ต้นสาละผลิดอกออกผลตามปกติจึงเป็น “อกาล” (นอกฤดูกาลผลิดอกออกผล) ที่ต้นสาละผลิดอกบานสะพรั่งเพื่อบูชาพระพุทธองค์นั้น เป็นด้วยพุทธานุภาพ และ อกาล ที่กล่าวถึง มิจำเป็นจะต้องเป็นเดือน 11-12 หลังออกพรรษาใหม่ๆ (ตามที่มีผู้แสดงข้อเขียนไว้-น้าชาติ) แต่หมายถึงเดือน 6 ดังที่บันทึกไว้ในคัมภีร์แทบทุกเล่ม

และข้อความจากพระสูตรระบุชัดเจนว่า พระพุทธองค์ปรินิพพานนอกพระนคร ทีแรกเหล่ามัลลกษัตริย์จะอัญเชิญพระพุทธสรีระไปถวายพระเพลิงนอกเมืองทางทิศใต้แต่ไม่สำเร็จ ต่อมาเปลี่ยนเป็นอัญเชิญเข้าเมืองทิศเหนือกลางใจเมืองแล้วอัญเชิญออกนอกเมืองทางทิศตะวันออก ถวายพระเพลิง ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมือง

คำถามที่ว่า “พระพุทธองค์ปรินิพพานด้วยโรคอะไร” เป็นการตั้งคำถามผิด พระพุทธองค์มิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร หรือด้วยการเสวยพระกระยาหารชนิดไหน หากปรินิพพานด้วย “อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ” ซึ่งทรงกำหนดวันเวลาไว้ล่วงหน้าแล้ว