โพธิจรรยาวตารของศานติเทวะ

ปริเฉทที่ ๑ อานิสงส์ของโพธิจิต

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

๑. ข้าพเจ้าครั้นน้อมนมัสการพระสุคตเจ้าทั้งหลาย ผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมกาย พร้อมทั้งพระสาวกทั้งมวลด้วยความเคารพแล้ว จะขอกล่าวถึงความตั้งมั่นแห่งการเป็นบุตรของพระสุคตเจ้าตามเนื้อความที่นํามาจากคัมภีร์อันได้รวบรวมไว้
๒. ด้วยว่าไม่มีเนื้อความใดๆในงานประพันธ์นี้ที่ไม่เคยกล่าวมาก่อนเลยและข้าพเจ้าเองก็ไม่มีความชํานาญในการร้อยกรองภาษา เหตุนั้น ข้าพเจ้าไม่มีความตั้งใจเพื่อประโยชน์ผู้อื่น(หากแต่)ข้าพเจ้าประพันธ์งานนี้ขึ้นเพื่อให้ความทรงจําตั้งมั่นด้วยดีอยู่ในใจตนเท่านั้น
๓. พลังความเลื่อมใสเพื่อให้กุศลเจริญขึ้น ย่อมสําเร็จแก่ข้าพเจ้าด้วยเหตุเพียงเท่านี้ก่อน ถ้าหากผู้อื่นใดมีพื้นฐานความรู้เหมือนข้าพเจ้าได้พบเห็นบทประพันธ์นี้ไซร้ บทประพันธ์นี้ก็ย่อมเกิดประโยชน์แก่เขาบ้าง
๔. โอกาสและบารมีนี้เป็นสิ่งเกิดขึ้นได้ยาก ทั้งยังเป็นเครื่องให้สําเร็จประโยชน์แก่มนุษย์ที่บุคคลได้ยากยิ่งนัก ถ้าข้าพเจ้าไม่คํานึงถึงประโยชน์ในงานประพันธ์นี้ไซร้ การมาบรรจบกันแห่งโอกาสและบารมีนั้นจักมีแต่ที่ไหนได้อีกเล่า
๕. บางครั้งเพราะพุทธานุภาพ ความคิดคํานึงถึงบุญกุศลทั้งหลายย่อมเกิดแก่สรรพสัตว์เพียงชั่วขณะหนึ่งดั่งสายฟ้าแลบในคืนเดือนมืดที่ถูกบดบังไปด้วยเมฆทึบย่อมส่องแสงให้สว่างได้เพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น
๖. ด้วยเหตุนั้น บุญกุศลจึงมีพลังอ่อนแอเป็นนิตย์ ส่วนพลังบาปนั้นยิ่งใหญ่และน่ากลัวเสมอหากไม่พึงมีสัมโพธิจิตแล้วไซร้คุณความดีอะไรอื่นจะเอาชนะพลังบาปนั้นได้อีกเล่า
๗. เพราะพระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมมุนีทั้งหลาย ผู้ทรงบําเพ็ญสมาธิบารมีมาหลายกัลป์ ได้ทรงพิจารณาเห็นประโยชน์นี้เองที่เป็นเหตุยังหมู่ชนให้บรรลุถึงความสุขอันประเสริฐได้โดยง่าย
๘. แม้หมู่ชนทั้งหลายผู้ต้องการจะข้ามสภาวทุกข์หลายร้อยชนิด ประสงค์จะทําลายความพินาศของสรรพสัตว์ให้หมดไป และปรารถนาจะประสบกับความสุขทั้งมวล จึงไม่ควรละโพธิจิตนี้ตลอดกาลทุกเมื่อ
๙. ขณะเมื่อโพธิจิตบังเกิดขึ้นแล้วนี่เองผู้อ่อนแอที่ติดข้องอยู่ในข่ายแห่งภพย่อมถูกร้องเรียกว่าเป็นบุตรของพระสุคตเจ้าทั้งหลาย เขาย่อมถูกมนุษยโลกและเทวโลกเคารพนบน้อมอยู่โดยแท้
๑๐. ท่านทั้งหลายจงยึดเอาสิ่งซึ่งควรค่าอย่างยิ่ง อันชื่อว่าโพธิจิตให้มั่งคง เพราะโพธิจิตนี้สามารถเปลี่ยนร่างที่ไม่สะอาดทั้งหลายให้เป็นร่างแห่งพระพุทธรัตนะอันประมาณค่ามิได้
๑๑. ท่านทั้งหลายผู้ไม่อยู่ปราศจากโลกิยวิสัยเป็นปกติ พึงยึดมั่นในรัตนะคือ โพธิจิต อันพระผู้ทรงเป็นสารถีเอกของโลก ผู้มีปัญญาอันหาประมาณมิได้ ทรงพิจารณาเห็นแล้วว่า มีคุณค่ามากยิ่ง
๑๒. อนึ่งกุศลทั้งปวงอื่นเมื่อให้ผลแล้วก็ย่อมถึงความสิ้นไป เหมือนต้นกล้วยเมื่อให้ผลแล้วย่อมตายไป ฉะนั้น แต่ต้นโพธิจิตนี้ย่อมผลิผลอยู่เนือง ๆ หาถึงความสิ้นไปไม่ และย่อมหลั่งผลอยู่ตลอดเวลา
๑๓. ทําไมสัตว์ผู้ไม่รู้ทั้งหลายจึงไม่อาศัยโพธิจิต อันเป็นเหตุที่แม้ใคร ๆ ได้สร้างบาปอันทารุณไว้
จํานวนมากแล้ว ยังสามารถข้ามมหาภัยทั้งปวงได้โดยเร็วพลัน เพราะอาศัยอํานาจความกล้าหาญนั่นเอง
๑๔. โพธิจิตใด ย่อมเผาผลาญบาปจํานวนมากได้โดยพลัน ดั่งไฟในกาลสิ้นยุค พระเมตตรัยผู้ทรงปัญญาได้พร่ำสอนโพธิจิตอันประเสริฐล้ำเหล่านั้นไว้แก่พระสุธนแล้ว
๑๕. กล่าวโดยย่อ โพธิจิตนั้นบุคคลพึงรู้ว่า มีอยู่ ๒ ประการ คือ โพธิประณิธิจิต และโพธิปรัสถานจิตเท่านั้น
๑๖. บัณฑิตทั้งหลายพึงรู้ถึงความแตกต่างของโพธิประณิธิจิตและโพธิปรัสถานจิตทั้งสองนั้นตามความต้องการเถิด เหมือนบุคคลเข้าใจถึงความต่างกันแห่งผู้ที่ปรารถนาจะไปและผู้ไปฉะนั้น
๑๗. โพธิประณิธิจิตมีผลยิ่งใหญ่แม้ในสังสารวัฎ (ก็จริง) แต่ความมีบุญไม่ขาดสูญไปแห่งโพธิประณิธิจิตนั้นย่อมไม่มีเหมือนโพธิปรัสถานจิตเลย
๑๘. เพราะจิตที่ไม่หวนกลับ จิตนั้นจึงตั้งมั่นด้วยดีอยู่ในความปรารถนาจะหลุดพ้นจากสัตวธาตุ
อันไม่มีที่สิ้นสุดจําเดิมแต่กาลใด
๑๙. นับแต่กาลนั้นมา ขณะเมื่อสัตว์หลับอยู่บ้าง ประมาทอยู่บ้าง สายธารแห่งบุญอันไม่สูญสลายทั้งมวลซึ่งเป็นเหมือนท้องฟ้าย่อมเป็นไปโดยประการต่างๆ
๒๐. พระตถาคตเจ้าได้ตรัสถึงโพธิจิต พร้อมทั้งเหตุเกิดโพธิจิตนั้นไว้ในสุพาหุปฤจฉาสูตรแล้วเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ผู้มีจิตอันน้อมไปในทางเลวทรามด้วยพระองค์เอง
๒๑. ผู้ที่คิดอยู่ว่า ข้าพเจ้าจะทําลายความเจ็บปวดที่ศีรษะของสัตว์ทั้งหลายให้ย่อยยับไป แล้วยึด
มั่นอยู่กับการสั่งสมประโยชน์เกื้อกูลด้วยบุญอันหาประมาณมิได้
๒๒. จะป่ วยกล่าวไปใยถึงความต้องการที่จะกําจัดทุกข์จํานวนมากมายแห่งคนๆหนึ่งและความ
ต้องการจะช่วยเหลือสัตว์ตัวหนึ่งๆให้บรรลุถึงคุณธรรมอันหาประมาณมิได้เล่า
๒๓. ใครจักมีความปรารถนาถึงประโยชน์เช่นนี้เล่า จะเป็นมารดาบิดาหรือ หรือว่าเป็นหมู่เทวดา
และฤษีทั้งหลายหรือจะเป็นพระพรหมทั้งหลายเล่า
๒๔. นั่นเป็นเพียงความปรารถนาภายในใจเพื่อประโยชน์ตนของสรรพสัตว์เท่านั้น และความ
ปรารถนาเช่นนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแม้ในความฝัน การเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ผู้อื่นจักมีแต่ที่ใดได้เล่า
๒๕. เพราะเหตุที่ความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ผู้อื่นของคนเหล่าอื่น ย่อมไม่เกิดขึ้นแม้เพื่อ
ประโยชน์ตนเอง รัตนะอันพิเศษแห่งความบริสุทธิ์นี้ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
๒๖. จักมีบุญแห่งจิตตรัตนะใดอันเป็นเชื้อแห่งความเพลิดเพลินของสัตวโลก และเป็นยาบรรเทา
ทุกข์ของสัตวโลกก็บุคคลจะกําหนดค่าบุญนั้นได้อย่างไร
๒๗. การบูชาพระพุทธเจ้าย่อมสําเร็จได้เพียงเพราะความปรารถนาถึงประโยชน์ (ตน) จะป่วย
กล่าวไปใยถึงความเพียรพยายามเพื่อประโยชน์สุขทั้งมวลของสรรพสัตว์ทั้งหลายอีกเล่า
๒๘. ด้วยความหวังจะสลัดออกจากทุกข์แต่สัตว์ทั้งหลายกลับวิ่งเข้าไปหาความทุกข์ เพราะความหลงด้วยปรารถนาสุขเกินไป พวกเขาจึงได้ทําลายความสุขของตนเสีย ประหนึ่งว่า (ถูก)ศัตรูทําลายอยู่ฉะนั้น
๒๙. เมื่อบุคคลกระหายอยากอยู่ในความสุขถูกความทุกข์เบียดเบียนแล้วโดยประการต่าง ๆ เขา
พึงทําความยินดีต่อความสุขทั้งปวงและตัดเสียซึ่งทุกข์ทั้งมวลจากการถูกบีบคั้นนั้น
๓๐. บุคคลที่ได้กําจัดความหลงให้หมดไปแล้ว จักหาผู้ที่เสมอกับคนดีนี้ได้จากไหน จักหามิตร
เช่นนี้ได้จากที่ใดหรือจะมีบุญเช่นนี้แต่ที่ไหนได้อีกเล่า
๓๑. ผู้ใดตอบแทนคุณความดีซึ่งบุคคลอื่นได้ทําไว้แล้ว แม้ผู้นั้นก็ย่อมได้รับการสรรเสริญก่อนจะป่วยกล่าวไปใยถึงพระโพธิสัตว์อีกเล่าผู้ซึ่งถูกใครๆกล่าวขานอยู่ว่า เป็นผู้บําเพ็ญความดีโดยไม่มีผู้ร้องขอ
๓๒. ผู้ให้การเลี้ยงดูแก่คน ๒ – ๓ คน ยังถูกชนทั้งหลายบูชาอยู่ว่า ได้บําเพ็ญกุศลแล้ว แม้ว่าจะ
เลี้ยงดูด้วยอาหารธรรมดาเพียงเล็กน้อยที่พอจะยังชีวิตให้ดําเนินอยู่ได้เพียงชั่วครึ่งวันก็ตาม
๓๓. จะป่วยกล่าวไปใยถึงผู้ปรารถนาความเสื่อมและความเจริญแห่งพระตถาคตเจ้า ผู้ซึ่งได้
บําเพ็ญมโนรถทั้งปวงให้บริบูรณ์แล้วแก่สรรพสัตว์อันหาประมาณมิได้ตลอดกาลเป็นนิตย์
๓๔. พระพุทธเจ้าตรัสว่า ก็ผู้ใดได้สร้างความชั่วไว้ภายในใจตนแก่บุตรของพระชินเจ้า ผู้ซึ่งเป็นเจาแหงการสักการบูชา เขาผูนั้นยอมตกนรกนานหลายกัลป นับเทาจํานวนที่ เกิดความคิดชั่วขึ้นนั่นแล
๓๕. เมื่อใจของผู้ใดเกิดความเลื่อมใสขึ้น ลําดับนั้นผลอันยิ่งยวดก็ย่อมสงเคราะห์ผู้นั้น แม้การทํา
บาปจะมีพลังมากก็จริงแต่ (การบําเพ็ญ) คุณความดีไว้ในพระชินบุตรทั้งหลายก็ย่อมไม่ไร้ผล (เช่นกัน)
๓๖. ข้าพเจ้าขอนมัสการพระสรีระทั้งหลายของเหล่าพระชินบุตร ผู้มีจิตตรัตนะอันประเสริฐได้
บังเกิดขึ้นแล้ว แม้ว่าภัยอันตรายซึ่งเกี่ยวพันอยู่กับความสุข จักมีในพระชินบุตรเหล่าใด
ข้าพเจ้าขอถึงพระชินบุตรผู้เป็นแหล่งเกิดแห่งความสุขเหล่านั้นว่าเป็นที่พึ่งที่อาศัย