คัมภีร์สัตยสิทธิศาสตร์ ของหริวรมันภิกษุ

คัมภีร์สัตยสิทธิศาสตร์ ของหริวรมันภิกษุ

บทนำ คัมภีร์สัตยสิทธิศาสตร์ของหริวรมันภิกษุ

คัมภีร์สัตยสิทธิศาสตร์ ของหริวรมันภิกษุ
คัมภีร์สัตยสิทธิศาสตร์ คัมภีร์นี้รจนา โดยพระภิกษุชาวอินเดียกลาง นามว่า หริวรมัน เป็นศิษย์ของพระกุมารริละภัตตะ ซึ่งเป็นพระเถระของนิกายเสาตรานติกะ มีช่วงชีวิตอยู่ราวศตวรรษที่ 9 หลังพุทธกาล พระหริวรมันไม่เห็นด้วยในคำสอนที่ของอาจารย์ท่านในหลายละเอียดเรื่องต่างซึ่งอาจจะเป็นมติต่างๆ นิกายเสาตรานติกะเอง ท่านจึงได้แต่งคัมภีร์นี้เพื่อจะประมวลข้อคิดคำสอนและคำอธิบายพระธรรมของฝ่ายสาวกยานสำนักต่างๆ ในอินเดียครั้งนั้น ให้เข้ารูป เข้ารอยอันเดียวกัน และเป็นการรวมเอาของคำสอนเด่นๆ ของฝ่ายสาวกยานไว้มากที่สุด

นักวิชาการให้ความเห็นว่า คัมภีร์นี้เป็นความพยายามที่จะรวมนิกายในฝ่ายสาวกยานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างนิกาย หลังจากเกิดการแตกแยกและโจมตีกันทางปรัชญาอย่างหนัก ซึ่งก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ต่อมาฝ่ายมหายานได้นำคัมภีร์นี้ไปใช้

ส่วนพระหริวรมันนั้นไม่แน่ชัดว่าท่านสังกัดอยู่ในนิกายใด บางว่า สังกัดนิกายพหุศรุติกะ สำนักเสาตรานติกะ สำนักธรรมคุปต์ หรือ มะหีสาสกะ
ที่เรียกว่า “สัตยสิทธิ” ก็เพราะทำความจริงให้ปรากฎ คือความจริงอันแน่นอนว่า อาตมันเป็นศูนย์ ธรรมเป็นศูนย์ อีกประการคือกล่าวถึงความจริงสูงสุด หรือ อริยสัจ 4 เช่นนี้จึงเรียกว่า ประสิทธิประสาท (สิทธิ) ความจริง (สัตย์) ให้สัมฤทธิ์

คัมภีร์สัตยสิทธิศาสตร์ รจนาเป็นภาษาสันสกฤตแบบผสมในพุทธศาสนา โดยมีเนื้อหา 5 บท (สกันธะ) แต่ละบทจะประกอบหัวข้อย่อย(วรรค) ดังที่จะนำเสนอดังนี้

  • สกันธะที่ 1 ปฺรถมะ ปฺรสฺถานสฺกนฺธะ บทแรกว่าหนทางการดำเนินในสัตยสิทธิ
    มี 35 วรรค ตั้งแต่ วรรคที่ 1-35
  • สกันธะที่ 2 ทุะขสตฺยสฺกนฺธะ บทว่าด้วยความจริงแห่งทุกข์
    มี 59 วรรค ตั้งแต่ วรรคที่ 36-94
  • สกันธะที่ 3 สมุทยสตฺยสฺกนฺธะ บทว่าด้วยความจริงแห่งสมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
    มี 46 วรรค ตั้งแต่ วรรคที่ 95-140
  • สกันธะที่ 4 นิโรธสตฺยสฺกนฺธะ บทว่าด้วยความจริงแห่งนิโรธ คือ ความดับทุกข์
    มี 14 วรรค ตั้งแต่ วรรคที่ 142-154
  • สกันธะที่ 5 มารฺคสตฺยสฺกนฺธะ บทว่าด้วยความจริงแห่งมรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์
    มี 48 วรรค ตั้งแต่ วรรคที่ 155-202

ส่วนผู้ทำให้คัมภีร์นี้เป็นที่รู้จัก ต่อมาคือ ท่านกุมารชีพหรือกุมารชีวะ” ซึ่งเป็นคณาจารย์ชาวเตอร์กีสถาน ได้เดินทางมา ในจีนเหนือ ท่านผู้นี้ได้นำเอานิกายศูนยวาท ของพระนาคารชุนอันเป็นคณาจารย์ใหญ่ของฝ่ายมหายาน มาประดิษฐานในเมืองจีน โดยได้แปลผลงานของท่านนาคารชุนเอาไว้ พร้อมๆกับท่านได้นำนิกายศูนยวาทมหายานมาเผยแพร่นั้น ท่านกุมารชีพได้แปลคัมภีร์อีกเล่มหนึ่ง คือคัมภีร์สัตยสิทธิศาสตร์ จากผลงานที่แปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาจีน ก็ทำให้สานุศิษย์ของท่านกุมารชีพในเมืองจีนนั้น ตั้งนิกายใหม่ อีกนิกายหนึ่ง เพื่อจะประกาศคติธรรมในคัมภีร์นี้โดยเฉพาะ ให้ชื่อว่านิกายสัตยสิทธิ ประกาศคติธรรมในคัมภีร์ปกรณ์นี้เป็นหลักใหญ่ เป็นนิกายที่แพร่ไปในจีนและญี่ปุ่นในเวลาต่อมา

คัมภีร์สัตยสิทธิศาสตร์ ของหริวรมันภิกษุ