ข้อควรปฏิบัติของศาสนิกชนศาสนาพรามณ์ ฮินดู

ข้อควรปฏิบัติของศาสนิกชนศาสนาพรามณ์ ฮินดู

ข้อควรปฏิบัติของศาสนิกฮินดูเรียกรวมๆว่า นิยมะ มี ๑๐ ประการ คือ
1.หรี ความละอายต่อการทำความชั่ว จำไว้เสมอว่าเคยทำผิดอะไรไว้ ยอมรับว่าสิ่งที่ทำนั้นผิดและพยายามแก้ไขสิ่งที่ทำผิดนั้น กล่าวขอโทษจากใจจริงต่อคนที่ตนทำผิดทั้งทางกายทางวาจาและทางใจ

2.สันโตษะ ความสันโดษ ดำเนินชีวิตด้วยความพึงพอใจ ดำรงชีวิตที่ราบเรียบ ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ยิ้มเสมอ ช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณที่ตนมีสุขภาพดี รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณเพื่อน รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณทรัพย์สมบัติ ไม่รู้สึกขัดข้องใจในสิ่งที่ตนไม่มี คิดว่าตัวเองที่แท้คือสิ่งเป็นนิรันดรที่อยู่ภายใน ไม่ใช่ใจ ไม่ร่างกาย ไม่ใช่ความรู้สึกที่ขึ้นๆลงๆเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

3.ทาน การให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ถือว่าเงิน ๑ ใน ๑๐ ส่วนของเงินได้ทั้งหมดเป็นเงินของพระเป็นเจ้า จงบริจาคเงินส่วนนี้ให้แก่วัด อาศรม และองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการพัฒนาจิตใจ มีคติประจำใจว่า ไปวัดพร้อมด้วยของถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไปพบอาจารย์(ทางศาสนา)ด้วยของบูชาคุณครูอาจารย์ บริจาคคัมภีร์ทางศาสนา ให้อาหารและให้สิ่งของแก่คนยากไร้

4.อัสติกยะ มีศรัทธาแนบแน่น เชื่อในพระเป็นเจ้าอย่างไม่มีความเคลือบแคลงสงสัย เชื่อมั่นในอาจารย์(ทางศาสนา) เชื่อในเส้นทางที่จะดำเนินไปสู่โมกษะหรือความพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด เชื่อในคำสอนของอาจารย์(ทางศาสนา) เชื่อในคัมภีร์ทางศาสนา เชื่อในประเพณีทางศาสนาที่สืบทอดกันต่อๆมา

5.อีศวรปูชนะ ปลูกฝังความภักดีต่อพระเป็นเจ้าด้วยการบูชาและทำสมาธิทุกวัน มีห้องพระไว้ในบ้าน ๑ ห้อง ถวายดอกไม้ ผลไม้ หรือ อาหาร แด่พระเป็นเจ้า เป็นประจำทุกวัน ท่องจำบทสวดสำหรับบูชาให้ได้ ทำสมาธิหลังจากการบูชา ก่อนออกจากบ้านให้ไปไหว้พระที่ห้องพระก่อน บูชาพระเป็นเจ้าด้วยใจที่เต็มไปด้วยความภักดี เปิดช่องภายในใจของตน ให้พระเป็นเจ้า ให้เทพและให้อาจารย์(ทางศาสนา) ส่งความกรุณาเข้ามาที่ตนและคนที่ตนรักได้

6. สิทธานตศรวณะ ฟังคำสอนจากคัมภีร์ทางศาสนา ศึกษาคำสอนและรับฟังจากอาจารย์(ทางศาสนา)ที่วงศ์ตระกูลของตนเคารพนับถือ เลือกอาจารย์แล้วดำเนินตามเส้นทางที่อาจารย์นั้นสอน อย่าเสียเวลาลองผิดลองถูกในเส้นทางอื่นๆ

7.มติ พัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นโดยพึ่งอาจารย์(ทางศาสนา)ให้เป็นผู้นำทาง แสวงหาความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับพระเป็นเจ้าจนกระทั่งเกิดความสว่างขึ้นในภายใน

8.วรตะ (vrata) ปฏิบัติพรตทางศาสนาโดยไม่พยายามหลีกเลี่ยง อดอาหารตามวันที่กำหนดไว้ทางศาสนา เดินทางไปไหว้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ปีละครั้ง

9.ชปะ ท่องมนตร์เป็นประจำทุกวัน สวดบทสวดที่อาจารย์ให้ไว้เป็นประจำทุกวัน อาบน้ำก่อนแล้วจึงสงบจิตสงบใจทำสมาธิพร้อมกับท่องมนตร์จนใจจดจ่ออยู่ที่มนตร์นั้นซึ่งจะทำให้ใจมีความสะอาดผุดผ่อง จงท่องมนตร์และสวดบทสวดตามคำสั่งของอาจารย์โดยเคร่งครัด ดำรงชีวิตโดยปราศจากความโกรธ การท่องมนตร์ของตนทำให้ธรรมชาติภายในใจมีความแข็งแกร่งขึ้น จงให้การท่องมนตร์นั้นขจัดอารมณ์ที่ขึ้นๆลงๆออกไปจนทำให้ใจหยุดนิ่ง

10.ตปัส บำเพ็ญตบะตามคำแนะนำของอาจารย์ เพื่อขจัดความชั่วหรือกิเลสออกไปจากใจ และเพื่อจุดไฟภายในให้ลุกขึ้น ทำให้ตนภายในเปลี่ยนเป็นตนใหม่ (เข้าถึงโมกษะ)