อัษฏมหาโพธิสัตว์ องค์ที่ ๘

April 22, 2021 shantideva edit 0

สันสกฤต : खगर्भ : Khagarbha : ขครฺภ (ขะครรภะ) หรือआकाशगर्भ : Ākāśagarbha : อากาศครฺภ (อากาศะครรภะ อากาศครรภ์ และ ขครรภ์ แปลว่า ครรภ์แห่งอากาศ อากาศ และ ข เป็นคำที่เป็นไวพจน์ต่อกัน ในความหมายว่า ความว่างเปล่า, พื้นที่ว่าง, อากาศ, ท้องฟ้า อากาศ ในที่นี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่บรรยากาศในโลก ยังหมายถึง อวกาศ หรือช่องว่างอันไม่มีสิ้นสุดด้วย ส่วนคำว่า ครฺภ ได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งโดยนัยยะหมายถึง สิ่งมีค่าที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี อากาศครรภ์ ยังมีนัยยะสื่อถึง ศูนยตา หรือ สุญญตา หรือ อนัตตา ความไม่มีตัวเป็นตนของสิ่งต่างๆ สิ่งทั้งหลายประกอบขึ้นจากเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นหลักการใหญ่ของมหายานด้วย พระอากาศครรภ์ ปรากฏพระนามใน วิมลเกียรตินิรเทศ กษิติครรภโพธิสัตตวปูรวปรณิธานสูตร คัมภีร์­โพธิจรรยาวตาร คัมภีร์ศึกษาสมุจจัย ของศานติเทวะ เป็นต้น มีลักษณะคล้ายกันทั้งชื่อและคุณสมบัติกับ พระคคนคัญชะ ภายหลังพระคคนคัญชะ รวมเป็นกับพระอากาศครรภ์ นาม คคนคัญชะ จึงเป็นพระนามหนึ่งของ พระอากาศครรภ์ มีพระสูตรเอกเทศอยู่จำนวนหนึ่ง ชื่อ เช่น อากาศครรภสูตร มหาสันนิปาตมหาอากาศครรภโพธิสัตวปริปฤจฉาสูตร ภาวนาอากาศครรภโพธิสัตวสูตร และที่กล่าวก่อนหน้านี้คือ คคนคัญชปริปฤจฉาสูตร หรือ คคนคัญชสมาธิสูตร อารยคคนคัญชสูตร โดยมากเป็นพระสูตรที่โดดเด่นเกี่ยวกับการภาวนาสมาธิ และวิธีการสารภาพผิด(ปาปเทศนา)และการเริ่มโพธิจิตใหม่สำหรับผู้ปฏิบัติในโพธิสัตวมรรค พระอากาศครรภ์ ยังเป็นพระโพธิสัตว์แห่งการปลงอาบัติ การสารภาพบาปและการกลับใจ พระโพธิสัตว์ผู้โปรดสัตว์ผู้กระทำชั่วให้กลับมาประพฤติธรรม คือในมหายาน มีวิธีการบูชาที่เรียกว่า อนุตตรบูชา หนึ่งในนั้นจะมีการสารภาพบาป สันสกฤตเรียก ปาปเทศนา ( पापदेशना : pāpadeśanā) หรือ ในไทยเรียก ขอขมากรรม นั้นเอง พระอากาศครรภ์ ยังอยู่ในฐานะเป็นพระโพธิสัตว์แห่งสมาธิ พระโพธิสัตว์แห่งความบริสุทธิ พระโพธิสัตว์แห่งการให้พร ความโชคดี ความสำเร็จ ความสุข ประเทศญี่ปุ่นนับถือในฐานะพระโพธิสัตว์แห่ง ความทรงจำ ความฉลาด ความรู้ภูมิปัญญา และเป็นพระโพธิสัตว์ผู้อุปถัมภ์ของช่างฝีมือและช่างศิลปะ พระอากาศครรภโพธิสัตว์ เป็นบุคลาธิษฐานแสดงถึง มหาสมาธิ (महासमाधि : Mahāsamādhi : มหาสมาธิ) ในมหายาน สมาธิ แตกต่างจากเถรวาทอยู่เรื่องหนึ่งคือ ไม่ใช่เฉพาะการกำหนดจิตหรือสติตั้งมั่นด้วยสมถวิปัสสนาที่ทำให้เกิดองค์ฌานเท่านั้น แต่ยังมี สมาธิ ในมหายาน อีกประเภท เป็นสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงเข้าสู่สมาธินั้นๆเพื่อแสดงธรรมอันมีหัวข้อแตกต่างกันไป มีอยู่หลายประเภทหลายชื่อเรียก มีคุณวิเศษอิทธิปาฎิหาริย์มากมายที่แตกต่างกันไป