บทที่ ๙ ปัญญา

บทที่ ๙ ปัญญา

      ในบทนี้คือผลที่พึงบังเกิดจากการที่พระบรมครูทั้งหลายได้สั่งสอนวิถีการปฏิบัติอันหลากหลาย ก็เพื่อให้บังเกิดปัญญา เพื่อนำพาสรรพชีวิตทั้งหลายที่หลงวนอยู่ในห้วงทุกข์แห่งวัฏสงสารได้ พัฒนาปัญญา เพื่อถึงซึ่งการสงบระงับแห่งความทุกข์ เพื่อขจัดเสียซึ่งอวิชาทั้งปวง

ทั้งนี้ ธรรมชาติแห่งปัญญา ก็คือการได้หยั่งรู้ และได้เข้าใจถึงความจริง ๒ ระดับ คือ ระดับสมมติสัจ และปรมัตถสัจ โดยสมมติสัจ เป็นความจริงที่ตั้งขึ้นจากจุดยืนของจิตที่หลอกลวงปิดบังความ จริงแท้ ขณะที่ปรมัตถสัจ เป็นความจริงอันหยั่งถึงโดยพระปัญญาของพระผู้เป็นเลิศ ซึ่งไม่มีสมมติสัจปรากฎ

การอธิบายถึงปัญญาในบทนี้ อธิบายในรูปแบบของบทสนทนาถามตอบระหว่างนิกายมาธยมิกะ โดยมีอาจารย์ศานติเทวะเป็นตัวแทน กับพุทธศาสนานิกายอื่น ซึ่ง ทอกมี ซังโป อาจารย์ชาวธิเบต เป็นผู้ให้คำอธิบายและอรรถกถา เนื้อหาของคัมภีร์อีกต่อหนึ่ง โดยมีเนื้อหาที่สำคัญ อาทิ การอธิบาย ธรรมชาติแห่งปัญญา การแก้ข้อกล่าวหาของฝ่ายจิตตามตริน เรื่อง ปรมัตถสัจ สุญตา แนะนำวัตถุ แห่งการทำสมาธิ ความเป็นอนัตตา ความไร้เอกลักษณ์แห่งปรากฎการณ์ ความมีสติแห่งจิต และ ความเข้าใจในภาวะแท้ เป็นต้น ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวมีความลุ่มลึก จำเป็นที่ผู้อ่านพึงอ่านจากฉบับ สมบูรณ์ ตามที่ รศ. ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ได้กรุณาแปลไว้อย่างครบถ้วน และง่ายต่อการทำ ความเข้าใจยิ่งขึ้นไว้แล้ว