ศาสนาฮินดู หรือ สนาตนธรรม เป็นศาสนาแบบพหุเทวนิยมที่พัฒนาการต่อมาจากศาสนาพราหมณ์ จึงมักเรียกรวมกันว่าศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าใครเป็นศาสดา มีพระเวทเป็นคัมภีร์หลัก มีศาสนิกชนมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก มีจำนวนประมาณ 900 ล้านคน
ศาสนานี้นับถือเทพเจ้าหลายองค์ เรียกว่า “พหุเทวนิยม” เทพเจ้าแต่ละองค์ในแต่ละยุคสมัย มีบทบาท และตำนานต่างกันไป ในแต่ละท้องถิ่นยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าองค์หนึ่ง ๆ แตกต่างกันไปด้วย โดยทั่วไปถือว่าชาวฮินดูเชื่อว่ามีเทพเจ้าสูงสุด ที่ได้อวตารแยกร่างออกมาเป็น 3 องค์ เรียกว่า “ตรีมูรติ” คือ
- พระพรหม ซึ่งเป็นพระผู้สร้างโลก
- พระศิวะ เป็นผู้ทำลาย
- พระนารายณ์ เป็นผู้ปกป้องและรักษาโลก
ประวัติศาสนาฮินดู
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ในตอนแรกเริ่มเรียกตัวเองว่า “พราหมณ์” ต่อมาศาสนาได้เสื่อมความนิยมลงระยะหนึ่งเนื่องจากอิทธิพลของศาสนาพุทธ จนมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 ศังกราจารย์ได้ปฏิรูปศาสนาโดยแต่งคัมภีร์เทพเจ้าลดความสำคัญของศาสนาพุทธ และนำหลักปฏิบัติรวมทั้งหลักธรรมของศาสนาพุทธมหายานบางส่วนมาใช้และฟื้นฟูปรับปรุงศาสนาพราหมณ์เป็นให้เป็นศาสนาฮินดูเนื่องจากหลักธรรมส่วนใหญ่ของศาสนาพุทธได้ประยุกต์มาจากศาสนาฮินดูเมื่อครั้งยังเป็นศาสนาพราหมณ์โดยเริ่มจากนิกายเถรวาทเมื่อครั้งพุทธกาล จนถึงนิกายมหายาน – วัชรยาน เมื่อ โดยคำว่า “ฮินดู” เป็นคำที่ใช้เรียกชาวอารยันที่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในลุ่มแม่น้ำสินธุ และเป็นคำที่ใช้เรียกลูกผสมของชาวอารยันกับชาวพื้นเมืองในชมพูทวีป และชนพื้นเมืองนี้ได้พัฒนาศาสนาพราหมณ์โดยการเพิ่มเติมเทพเจ้าท้องถิ่นดั้งเดิมลงไป เนื่องจากเวลานั้นสังคมอินเดีย แตกแยกอย่างมากเนื่องจากอิทธิพลของพุทธศาสนาในประเทศอินเดียที่มีลักษณะเป็นกึ่งพหุเทวนิยม คือนิยมนับถือเทวดา ทำให้ทางตอนเหนือนับถือพระศิวะซึ่งเป็นเทพแห่งภูเขาหิมาลัย ทางตอนใต้ชาวประมงนับถือวิษณุซึ่งเป็นเทพที่ให้ฝนและพายุ ชาวป่านับถือพระนิรุทธ และตอนกลางนับถือพระพิฆเนศ
คนอินเดียเวลานั้นเริ่มไม่นับถือศาสนาพราหมณ์เป็นจำนวนมากขึ้น เมื่อต้องการรวมชาติ เมื่อครั้งขับไล่ราชวงศ์โมกุลของอิสลามที่เข้ามายึดครองและสั่งเข่นฆ่าพระสงฆ์คัมภีร์และวัดในพระพุทธศาสนาจนแทบสูญสิ้นไปจากอินเดีย จึงรวมเทพเจ้าแต่ละท้องถิ่นต่างๆมารวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับศาสนาพราหมณ์ แล้วเรียกศาสนาของใหม่นี้ว่า “ศาสนาฮินดู” เพราะฉะนั้นศาสนาพราหมณ์จึงมีอีก ชื่อในศาสนาใหม่ว่า “ฮินดู” จนถึงปัจจุบันนี้
พระพุทธศาสนาก็เกิดขึ้นท่ามกลางสังคมพราหมณ์ แม้แต่พระพุทธเจ้าและพุทธสาวกสมัยแรก ๆ ก็เคยนับถือศาสนาพราหมณ์หรือเคยเกี่ยวข้องกับวรรณะพราหมณ์มาก่อน และในนิทานชาดก และเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาพุทธและพระพุทธเจ้า ก็มักจะมีพราหมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงกล่าวได้ว่า ศาสนาพุทธและพราหมณ์ จึงมีอิทธิพลต่อกันและกัน
ในศาสนาพราหมณ์ คำว่า พราหมณ์ หมายถึง คนในวรรณะที่สูงที่สุดของสังคมอินเดีย มีหน้าที่สอนความรู้เกี่ยวกับพระเวทและทำหน้าที่ติดต่อเทพเจ้า ผู้ที่เป็นพราหมณ์เป็นโดยกำเนิด คือบุตรของพราหมณ์ก็จะมีสถานภาพเป็นพราหมณ์ด้วย
ศาสดา
ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ไม่มีศาสดาชัดเจนเหมือนศาสนาอื่น แต่มีผู้แต่งตำรา ทำหน้าที่คล้ายศาสดาสืบทอดกันมา ดังนี้
- วยาสะ ท่านผู้นี้เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงคัมภีร์พระเวท คัมภีร์อิติหาสะ และคัมภีร์ปุราณะ
- วาลฆีกิ เป็นฤษีผู้แต่งมหากาพย์รามายณะ ท่านเป็นพราหมณ์โดยกำเนิด แต่ถูกพ่อแม่ทิ้งตั้งแต่ยังเล็กพวกชาวนาได้นำไปเลี้ยงไว้
- โคตมะหรือเคาตมะ ผู้ตั้งลัทธินยายะ เกิดประมาณ 500 ปีก่อน ค.ศ.
- กณาทะ ผู้ตั้งลัทธิไวฌศษิกะ เกิดประมาณศตวรรษที่ 3 ก่อน ค.ศ.
- กปิละ ผู้ตั้งลัทธิสางฆยะ เกิดในสมัยศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ.
- ปตัญชลิ ผู้ตั้งลัทธิโยคะ เกิดในสมัยศตวรรษที่ 3 หรือ 4 ก่อน ค.ศ.
- ไชมินิ ผู้ตั้งลัทธิมีมางสา หรือปูรวมีมางสา เกิดระหว่างศตวรรษที่ 6-2 ก่อน ค.ศ.
- มนู หรือ มนุ ผู้แต่งคัมภีร์ธรรมศาสตร์ เกิดในศตวรรษที่ 5 ก่อน ค.ศ.
- พาทรายณะ ผู้ตั้งลัทธิเวทานตะ หรือ อุตรมีมางสา มีผู้กล่าวว่าเป็นคนเดียวกับวยาสะ เกิดระหว่างศตวรรษที่ 6-2 ก่อน ค.ศ.
- จารวากะ ผู้ตั้งลัทธิโลกายนะ หรือวัตถุนิยม ไม่มีประวัติแน่นอน
- ศังกราจารย์ ผู้แต่งอรรถกถา หรือคำอธิบายลัทธิเวทานตะ เกิดระหว่างปี ค.ศ. 788-820 และเป็นผู้ตั้งลัทธิอไทวตะ หรือเอกนิยม คือ นิยมพระเจ้าองค์เดียว
- นาถมุนี เป็นผู้นำคนแรกของลัทธิไวษณวะ อยู่ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 824-924
รามานุชาจารย์ ถือว่าเป็นคนสำคัญยิ่งของลัทธิไวษณวะ และเจ้าของปรัชญาวิศิษฏาทไวตะ เกิดปี ค.ศ. 1027 - มัธวาจารย์ เป็นผู้นำท่านหนึ่งแห่งลัทธิไวษณวะ และเจ้าของปรัชญาทไวตะ หรือ ทวินิยม อยู่ในช่วงระหว่าง 1199-1277
- ลกุลีศะ (สมัยของท่านนี้ยังไม่แน่นอน) เป็นอาจารย์ใหญ่แห่งนิกายไศวะ ฝ่ายใต้ผู้ตั้งนิกายปศุปตะ
- วสุคุปตะ เป็นผู้ตั้งลัทธิไศวะฝ่ายเหนือหรือที่เรียกว่า กาษปีรไศวะ (อยู่ระหว่างศตวรรษที่ 9 แห่ง ค.ศ.)
- รามโมหัน รอย เป็นผู้ตั้งพรหมสมาช(สมาคม) อยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1774-1833
- สวามีทะยานัน สรัสวดี เป็นผู้ตั้งอารยสมาช อยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1824-1833
- รามกฤษณะ เป็นผู้นำทางความรู้และทางปฏิบัติ เป็นผู้จัดให้มีกระบวนการราม
- ฤษณะมิชชัน แม้ท่านจะไม่ได้ตั้งขึ้นเอง แต่สวามีวิเวกานันทะ สรัสวดี ก็ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเครื่องอนุสรณ์ถึงท่าน อยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1836-1886
คัมภีร์
คัมภีร์พระเวท เดิมมี 3 คัมภีร์ เรียกว่า “ไตรเวท” คือ
- ฤคเวท เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมบทสวดสดุดีพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย บรรดาเทพเจ้าที่ปรากฏในฤคเวทสัมหิตามีจำนวน 33 องค์ ทั้ง 33 องค์ ได้จัดแบ่งตามลักษณะของที่อยู่เป็น 3 กลุ่ม คือ เทพเจ้าที่อยู่ในสวรรค์ เทพเจ้าที่อยู่ในอากาศ และเทพเจ้าที่อยู่ในโลกมนุษย์ มีจำนวนกลุ่มละ 11 องค์
- ยชุรเวท เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมบทประพันธ์ที่ว่าด้วยสูตรสำหรับใช้ในการประกอบยัญพิธียชุเวทสัมหิตา แบ่งออกเป็น 2 แขนง คือ
-ศุกลชุรเวท หรือ ยชุรเวทขาว ได้แก่ ยชุรเวทที่บรรจุมนต์ หรือคำสวดและสูตรที่ต้องสวด
-กฤษณยชุรเวท หรือ ยชุรเวทดำ ได้แก่ ยชุรเวทที่บรรจุมนต์และคำแนะนำเกี่ยวกับการประกอบยัญพิธีบวงสรวง ตลอดทั้งคำอธิบายในการประกอบพิธีอีกด้วย - สามเวท เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมบทประพันธ์อันเป็นบทสวดขับร้อง บทสวดในสามเวทสัมหิตามีจำนวน 1,549 บท ในจำนวนนี้มีเพียง 75 บท ที่มิได้ปรากฏในฤคเวท
ต่อมาได้เพิ่ม อาถรรพเวท เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมบทประพันธ์ที่ว่าด้วยมนต์หรือคาถาต่าง ๆ
ปรัชญา
ปรมาตมัน หมายถึง สิ่งที่ยิ่งใหญ่ อันเป็นที่รวมของทุกสิ่งทุกอย่างในสากลโลก ได้แก่ “พรหม” ปรมาตมันกับพรหมจึงเป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งมีลักษณะดังนี้
- เกิดขึ้นเอง
- เป็นนามธรรม สิงสถิตอยู่ในสิ่งทั้งหลาย และเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา
- เป็นศูนย์รวมแห่งวิญญาณทั้งปวง
- สรรพสิ่งล้วนแยกออกมาจากพรหม
- เป็นตัวความจริง (สัจธรรม) สิ่งเดียว
- เป็นผู้ประทานญาณ ความคิด และความสันติ
- เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในสภาพเดิมตลอดกาล
วิญญาณทั้งหมดเป็นส่วนที่แยกออกมาจากปรมาตมัน วิญญาณย่อยเหล่านี้เมื่อแยกออกมาแล้ว ก็เข้าจุติในชีวิตรูปแบบต่างๆ เช่น เทวดา มนุษย์ สัตว์ และพืช มีสภาพดีบ้าง เลวบ้าง ตามแต่พรหมจะลิขิต
หลักปฏิบัติ
อาศรม หรือ อาศรม 4 หมายถึง ขั้นตอนการดำเนินชีวิตของชาวฮินดู เฉพาะที่เป็นพราหมณ์วัยต่างๆ โดยกำหนดเกณฑ์อายุคนไว้ 100 ปี แบ่งช่วงของการไว้ชีวิตไว้ 4 ตอน ตอนละ 25 ปี ช่วงชีวิตแต่ละช่วงเรียกว่า อาศรม(วัย) อาศรมทั้ง 4 ช่วง มีดังนี้
- พรหมจรยอาศรม เริ่มตั้งแต่อายุ 8-15 ปี ผู้เข้าสู่อาศรมนี้เรียกว่า พรหมจารี
- คฤหัสถาศรม อยู่ในช่วงอายุ 15-40 ปี
- วานปรัสถาศรม อยู่ในช่วงอายุ 40-60 ปี
- สันยัสตาศรม อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สำหรับผู้ปรารถนาความหลุดพ้น(โมกษะ) จะออกบวชเป็น “สันยาสี” เมื่อบวชแล้วจะสึกไม่ได้
จุดมุ่งหมายสูงสุด
โมกษะ คือ การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เช่นเดียวกับศาสนาพุทธ ถือว่าเป็นหลักความดีสูงสุด ดังคำสอนของศาสนาฮินดูสอนว่า “ผู้ใดรู้แจ้งในอาตมันของตนว่าเป็นหลักอาตมันของโลกพรหมแล้ว ผู้นั้นย่อมพ้นจากสังสาระการเวียนว่าย ตาย เกิด และจะไม่ปฏิสนธิอีก”
แนวคิดคำสอน
ศิวลึงค์ เป็นความคิดที่พราหมณ์ในสมัยก่อนคิดกันขึ้นมาเพื่อแสดงเป็นสัญลักษณ์ มิใช่ความปรารถนาของพระศิวะที่จะให้พราหมณ์นับถือศิวลึงค์ หรือโยนีสำหรับลัทธิศักติ การบูชาพระศิวะสามารถทำได้ด้วยการกระทำความดีเพื่อถวายแก่พระศิวะ
ผู้ที่ปรารถนาที่จะกลับเข้าสู่ความเป็นอาตมันหรือตรัสรู้สามารถทำได้โดยการทำสมาธิ และให้คิดว่าร่างกายนี้เราก็ละในที่สุดก็จะตรัสรู้และมีแสงเป็นจุดกลมๆเป็นฝอยๆสีขาวคล้ายน้ำหมึก ขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตรบางอันก็เล็กกว่า และมีแสงเป็นรูปคล้ายดาวกระจายขนาดประมาณครึ่งนิ้ว แสงที่เห็นจะมีน้ำหนัก มีลักษณะเป็นก้อน เมื่อกระทบวัตถุสามารถเด้งกลับได้ การตรัสรู้ของศาสนาพราหมณ์คือ “การรู้ว่ากายนี้ไม่ใช่ของเรา”
วรรณะ
- พราหมณ์ คือ ผู้ทำพิธีกรรม มีหน้าที่ติดต่อกับเทพเจ้า สั่งสอนศาสนาและประกอบพิธีกรรมแก่ประชาชนทุกวรรณะ รวมถึงมีหน้าที่ศึกษา จดจำและสืบต่อคัมภีร์พระเวท วรรณะนี้เชื่อว่ากำเนิดมาจากปากของพระพรหม
- กษัตริย์ คือ กษัตริย์หรือนักรบ ทำหน้าที่ป้องกันชาติบ้านเมือง และทำศึกสงคราม วรรณะนี้เชื่อมากำเนิดมาจากหน้าอกของพระพรหม
- แพศย์ คือ ผู้ประกอบพาณิชกรรม เกษตรกรรม ซึ่งเป็นวรรณะของคนส่วนใหญ่ในสังคม วรรณะนี้เชื่อว่ากำเนิดมาจากมือของพระพรหม
- ศูทร คือ กรรมกร วรรณะนี้เชื่อว่ากำเนิดมาจากเท้าของพระพรหม
–ถ้ามีการแต่งงานข้ามวรรณะ บุตรที่เกิดมาก็จะกลายเป็น จัณฑาล (ในภาษาไทยคือ กาลกิณี) เป็นผู้อยู่นอกวรรณะซึ่งเป็นที่รังเกียจของทุกวรรณะ
-ส่วนในอินโดนีเซีย จะไม่ค่อยเคร่งวรรณะเหมือนกับในอินเดีย
-หนังสือบางเล่มกล่าวว่า วรรณะพราหมณ์, กษัตริย์ และแพศย์ เป็นวรรณะของคนอารยัน คือชนผิวขาวผู้ริเริ่มศาสนา ส่วนวรรณะศูทร เป็นของคนดราวิเดียน ชนผิวดำชนพื้นเมืองเก่าของอินเดีย
นิกาย
ศาสนาฮินดู ที่สืบเนื่องจากศาสนาพราหมณ์นับเป็นศาสนาที่เก่าแก่มากที่สุด ได้แบ่งออกเป็นหลายนิกายที่สำคัญ เช่น
1. ลัทธิไวษณพ เป็นนิกายที่เก่าที่สุด นับถือพระวิษณุเจ้าเป็นเทพองค์สูงสุด เชื่อว่าวิษณุสิบปาง หรือนารายณ์ ๑๐ ปางอวตารลงมาจุติ มีพระลักษมีเป็นมเหสี มีพญาครุฑเป็นพาหนะ นิกายนี้มีอิทธิพลมากในอินเดียภาคเหนือและภาคกลาง ของประเทศ นิกายนี้เกิดเมื่อ พ.ศ. ๑๓๐๐ สถาปนาโดยท่านนาถมุนี (Nathmuni)
2. ลัทธิไศวะ เป็นนิกายที่นับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด พระศิวะเป็นเทพทำลายและสร้างสรรค์ด้วย สัญลักษณ์ อย่างหนึ่งแทนพระศิวะคือศิวลึงค์และโยนีก็ได้รับการบูชา เช่น องค์พระศิวะ นิกายนี้ถือว่าพระศิวะเท่านั้นเป็นเทพสูงสุดแม้แต่พระพรหม, พระวิษณุก็เป็นรองเทพเจ้าพระองค์นี้ นิกายนี้เชื่อว่า วิญญาณเป็นวิถีทางแห่งการหลุดพ้นมากกว่าความเชื่อในลัทธิภักดี นิกายนี้จะนับถือพระศิวะและพระนางอุมาหรือกาลีไปพร้อมกัน
3. ลัทธิศักติ เป็นนิกายที่นับถือพระเทวี หรือพระชายาของมหาเทพ เช่น สรัสวดี พระลักษมี พระอุมา เจ้าแม่ทุรคา และเจ้าแม่กาลีซึ่งเป็นชายาของมหาเทพทั้งหลาย เป็นผู้ทรงกำลังหรืออำนาจของเทพสามีไว้ จึงเรียกว่า ศักติ (Power) นิกายนี้เป็นที่นิยมในรัฐเบงกอล และรัฐอัสสัม เป็นต้น
4.นิกายพรหม เป็นนิกายดั้งเดิมและเก่าแก่ที่สุด ถือว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งหมด
5. ลัทธิคณพัทยะ (Ganabadya) นิกายนี้นับถือพระพิฆเณศเป็นเทพเจ้าสูงสุด ถือว่าพระพิฆเนศเป็นศูนย์กลางแห่งเทพเจ้าทั้งหมดในศาสนา เชื่อว่าเมื่อได้บูชาพระพิฆเนศอย่างเคร่งครัด ก็เท่ากับได้บูชาเทพอื่นๆ ครบทุกพระองค์
6. ลัทธิสรภัทธะ (Sarabhadh) เป็นนิกายขนาดเล็ก ในสมัยก่อนบูชาพระอาทิตย์ (สูรยะ) มีผู้นับถือมากในอดีต ปัจจุบันมีจำนวนน้อย นิกายนี้มีพิธีอย่างหนึ่งคือ กายตรี หรือ คายตรี (Gayatri) ถือว่ามีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ คือการกลับมาของพระอาทิตย์เป็นฤๅษีวิศวามิตร
7. ลัทธิสมารธะ (Samardha) เป็นนิกายที่ใหญ่พอสมควร นับถือทุกเทพเจ้าทุกพระองค์ในศาสนา ฮินดู ความเชื่อแบบนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เพราะสามารถบูชาเจ้าได้ตามต้องการ
8. ลัทธิเชมัน หรือ เชมัน(Shamanism)
9. ลัทธิกายตรี-พหุเทวะนิยม (Gayatri-polytheism) เป็นนิกายที่นับถือเทพเจ้าหลายพระองค์ในศาสนาฮินดู แต่ก็มีความเชื่อที่ว่าพระเจ้าทุกพระองค์ คือหนึ่งเดียว ยังมีนิกายอื่นๆ อีกมากมาย และแยกย่อยออกไปอีก
นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการปฏิบัติที่แตกต่างไปจากในอนุทวีปอินเดียอีก เช่น ศาสนาฮินดูแบบบาหลี ที่ผสมผสานความเชื่อพื้นเมือง