การปริวรรตอักษรภาษาสันสกฤตสากล หรือ The International Alphabet of Sanskrit Transliteration (IAST) เป็นรูปแบบการปริวรรตอักษรภาษาสันสกฤตเป็นอักษรโรมัน(Romanization) รูปแบบหนึ่งที่ปราศจากการสูญเสีย(Lossless) คือสามารถจับคู่อักษรต้นทางและปลายทางได้ครบคู่ โดยมากอักษรต้นทางนั้นมักเป็นอักษรอินเดียตระกูลต่างๆ(Indic Script) นอกจากใช้ปริวรรตอักษรภาษาสันสกฤตให้เป็นอักษรโรมัน ยังนิยมใช้ปริวรรตอักษรภาษาปรากฤต อื่นๆเช่น ภาษาบาลี และภาษาอปภรัมศะ เป็นต้น
แต่เดิมในการการปริวรรตอักษรภาษาสันสกฤตเป็นอักษรโรมันยังไม่ได้มีมาตรฐานกลางที่ใช้ร่วมกันแต่ใช้วิธีการปริวรรตตามข้อเสนอของผู้เชี่ยวชาญหลายๆท่าน ดังที่แสดงในรูปที่ 2.4
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1894 มีการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับด้านตะวันออกศึกษาหรือเอเชียศึกษาในปัจจุบัน การประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 10 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสแลนด์ (10th International Congress of Orientalists, Held at Geneva) มีมติที่ประชุมให้รวมรูปแบบการปริวรรตอักษรภาษาสันสกฤตและบาลีเป็นอักษรโรมัน จากสองรูปแบบหลัก 2 รูปแบบคือ รูปแบบการปริวรรตของ ราชสมาคมเอเชียแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ (Royal Asiatic Society of Great Britain and Ireland) [15]และรูปแบบของสมาคมตะวันออกศึกษาแห่งเยอรมัน (German Oriental Society : Deutsche Morgenländische Gesellschaft) และตีพิมพ์สรุปรายงานการประชุมในปีเดียวกันเป็นภาษาฝรั่งเศสลงในหนังสือ Xme Congrès International des Orientalistes, Session de Genève. Rapport de la Commission de Transcription (1894) จากนั้นในปี ค.ศ.1895 ราชสมาคมเอเชียแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ได้แปลสรุปรายงานการประชุมเป็นภาษาอังกฤษลงในวารสารราชสมาคมเอเชีย [16] ต่อมารูปแบบการปริวรรตนี้ มีความสำคัญทางวิชาการภาษาสันสกฤตมาก จึงได้เป็น “การปริวรรตอักษรภาษาสันสกฤตสากล” หรือ “The International Alphabet of Sanskrit Transliteration” (IAST) เพราะเป็นมาตรฐานหลักการปริวรรตอักษรภาษาสันสกฤตเป็นอักษรโรมัน (Romanization) จนถึงปัจจุบัน