จริยธรรม 10 ประการของพระโพธิสัตว์

จริยธรรม10ประการของพระโพธิสัตว์

     จริยธรรม 10 ประการของพระโพธิสัตว์  คือ ทศบารมีที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลายบำเพ็ญเพื่อสำเร็จเป็นพระอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระโพธิสัตว์ แปลว่าอะไร?

     พระโพธิสัตว์ แปลว่า “ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตรัสรู้” หรือ “ผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต” หมายถึง ผู้ที่กำลังบำเพ็ญบารมีอย่างยิ่งยวดเพื่อบรรลุถึงพระโพธิญาณและเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต

พระพุทธศาสนา

     ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทบารมีที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญมี 10 ประการเรียกกัน อีกอย่างหนึ่งว่า “บารมี 10” หรือ“บารมี 10 ทัศ” ประกอบด้วย

1. ทานบารมี 
2.  ศีลบารมี 
3. เนกขัมมบารมี
4. ปัญญาบารมี 
5. วิริยบารมี 
6. ขันติบารมี 
7.  สัจจบารมี 
8. อธิษฐานบารมี
9. เมตตาบารมี 
10. อุเบกขาบารมี

     ทั้งนี้พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์นั้น มีจริยธรรมที่ยึดถือไว้ 10 ประการ ซึ่งชาวพุทธควรเข้าใจและน้อมนำมาปฏิบัติตาม

1. พระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนาเลยว่าร่างกายจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ( มีโรคภัยไข้เจ็บเป็นธรรมดา )
2. พระโพธิสัตว์ครองชีพโดยไม่ปรารถนาว่าจะไม่มีภยันตราย ( มีภัยอันตรายเป็นธรรมดา )
3. พระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนาเลยว่าจะไม่มีอุปสรรคในการชำระจิตให้บริสุทธิ์ ( ย่อมมีอุปสรรคเป็นธรรมดา )
4. พระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนาเลยว่าจะไม่มีมารขัดขวางการปฏิบัติภารกิจ ( จะต้องมีมารมาขัดขวางการปฏิบัติโพธิจิตเป็นธรรมดา )
5. พระโพธิสัตว์คิดว่าจะทำงานให้นานที่สุด โดยไม่ปรารถนาจะให้สำเร็จผลเร็ว ( ปล่อยวางเรื่องกาลเวลา ทำงานเพื่องาน )
6. พระโพธิสัตว์คบเพื่อนโดยไม่ปรารถนาว่าจะได้ผลประโยชน์จากเพื่อน ( รักผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ )
7. พระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนาเลยว่าจะให้คนอื่นตามใจตนเองเสมอไปทุกอย่าง (ไม่มีความเห็นแก่ตัว)
8. พระโพธิสัตว์ทำความดีกับคนอื่น ไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทน ( ต้องการให้คนอื่นพ้นทุกข์ )
9. พระโพธิสัตว์เห็นลาภแล้ว ไม่ปรารถนาจะมีหุ้นส่วนด้วย ( ไม่ปรารถนาในลาภและสรรเสริญ )
10. พระโพธิสัตว์เมื่อถูกใส่ร้ายป้ายสี ติเตียน นินทาแล้ว ไม่ปรารถนาจะได้โต้ตอบหรือฟ้องร้อง

( การใส่ร้ายป้ายสี ติเตียน นินทา เป็นธรรมดาของโลก )

     จริยธรรมทั้ง 10 ประการนี้ เป็นการปฏิบัติธรรมชั้นสูงของพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ เรียกว่า “มหาอุปสรรค” ซึ่งถ้าชาวพุทธนำมาปฏิบัติทุกวัน จะช่วยขัดเกลาจิตใจให้ดีงามและง่ายต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน