พระอัสสชิเถระ เป็นบุตรพราหมณ์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ บิดาท่านเป็นหนึ่งในจำนวนพราหมณ์ทั้ง ๘ ที่ได้รับเชิญไปทำนายพระลักษณะ และขนานพระนามเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช โกณฑัญญพราหมณ์ คนเดียวในจำนวน ๘ คน ครั้งนั้น ผู้เชื่อมั่นว่าเจ้าชายจะได้ตรัสรู้แน่นอน จึงชวนท่านอัสสชิพร้อมสหายไปเฝ้าปรนนิบัติ ขณะเจ้าชายสิทธัตถะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ ณ อุรุเวลาเสนานิคม (ปัจจุบันนี้เรียกว่า ถ้ำดงคิริ)
เมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าทรงเลิกทุกรกิริยา ท่านอิสสชิจึงได้ติดตามโกณฑัญญะหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และหลังจากแล้ว ได้เสด็จไปแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (ว่าด้วยอริยสัจ ๔) โปรด ท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้บวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์เช่นเดียวกับสหายทั้ง ๔
หลังจากบรรลุพระอรหัตแล้ว พระอัสสชิเถระได้เป็นหนึ่งในจำนวนพระสาวก ๖๐ รูป ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนารุ่นแรก ท่านได้ไปสั่งสอนประชาชนตามคามนิคมต่างๆ เป็นเวลาประมาณ ๓ เดือน จึงไปยังเมืองราชคฤห์ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์ได้ประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงสร้างถวาย
ท่านออกบิณฑบาตในเช้าวันหนึ่งในเมืองราชคฤห์ อิริยาบถอันสงบสำรวม ขณะเดินบิณฑบาตอยู่ ได้ประทับใจมาณพหนุ่มนามว่า อุปติสสะ ผู้พบเห็นเข้าโดยบังเอิญ อุปติสสะผู้นี้มีสหายชื่อ โกลิตะ เป็นศิษย์อาจารย์สัญชัยเวลัฏฐบุตร หนึ่งในจำนวน “ครูทั้ง ๖” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้น
อุปติสสะและโกลิตะ เห็นความไม่มีแก่นสารแห่งคำสอนของสำนักตน จึงตกลงกันเงียบ ๆ ว่าจะแสวงหาแนวทางใหม่ ถ้าใครพบก่อนก็จะบอกให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ
อุปติสสะคิดว่าตนได้พบผู้ที่ควรเป็นอาจารย์ของตนแน่แล้ว จึงติดตามท่านไปห่างๆ ครั้นได้โอกาส ขณะพระเถระนั่งฉันภัตตาหารอยู่ จึงเข้าไปนมัสการ เรียนถามธรรมะจากท่าน พระเถระออกตัวว่า ท่านบวชไม่นาน ไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารได้ อุปติสสะกราบเรียนท่านว่าแสดงแต่โดยย่อก็ได้
พระเถระจึงกล่าวคาถาอันแสดงถึง “แก่น” แห่งอริยสัจ ๔ ความว่า
เย ธมฺม เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุง ตถาคโต (อาห)
เตสญฺ จ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ
ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และการดับเหตุแห่งธรรมเหล่านี้ พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้
อุปติสสะได้ฟังเพียงแค่นี้ก็ได้ “ดวงตาเห็นธรรม” (เกิดธรรมจักษุ) คือบรรลุโสดาปัตติผล จึงรีบไปบอกแก่โกลิตะผู้สหาย โกลิตะได้ฟังคาถานั้นก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลเช่นเดียวกัน ทั้งสองจึงไปชวนอาจารย์สัญชัยเวลัฏฐบุตรไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
เมื่ออาจารย์ปฏิเสธ จึงได้พากันไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ ณ พระเวฬุวัน ดังทราบกันทั่วไปแล้ว
พระอัสสชิเถระไม่ปรากฏว่าท่านมีความเชี่ยวชาญด้านใดเป็นพิเศษ เพราะไม่มีชื่อในทำเนียบเอตทัคคะ
ท่านเป็นพระที่ภาษาชาวบ้านสมัยนี้เรียกกันว่า “สมถะ” คือ ชอบอยู่สงบเพียงลำพัง ท่านมีบุคลิกน่าเลื่อมใส สำรวมอินทรีย์ “การคู้ การเหยียด ซึ่งมือและเท้า การเหลียวดู เป็นไปอย่างสงบสำรวม น่าเลื่อมใสยิ่ง” ดังความคิดของอุปติสสะ เมื่อเห็นท่านเป็นครั้งแรก เพราะเหตุนี้เอง ท่านจึงได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงจากอุปติสสะ ซึ่งต่อมาคือพระสารีบุตรเถระ เมื่อทราบว่าท่านพำนักอยู่ ณ ทิศใด พระอัครสาวกจะนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น เพื่อถวายความเคารพ “อาจารย์” ของท่าน
ไม่ปรากฏว่าพระอัสสชิเถระมีอายุพรรษาเท่าใด ท่านนิพพานไปเงียบๆ โดยไม่มีกล่าวถึงไว้ในคัมภีร์ไหนเลย ในส่วนที่ไม่กล่าวถึงบ่อยนัก แต่ไม่มีใครลืมได้ ก็คือ คุณูปการอันยิ่งใหญ่ที่ท่านทำไว้แก่พระพุทธศาสนา โดยได้เป็นผู้ชักชวนให้พระอัครสาวกทั้งสองมาบวช เพื่อเป็นกำลังของพระพุทธศาสนา