สามเณรกัณฏกะ ผู้เป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์ทรงวางกฎเข้มงวด ไม่ให้สามเณรทั้งหลายประพฤติเอาเยี่ยงอย่าง
ในพระวินัยปิฎก กล่าวว่า เดิมทีเหล่าภิกษุอุปสมบทให้แก่เด็กๆ จำนวน ๑๗ คน เรียกว่า “สัตตรสวัคคีย์” (พวก ๑๗ คน) เด็กเหล่านี้มีอุบาลีเป็นหัวหน้า เป็น “พระเด็ก” รุ่นแรกก็ว่าได้
พอบวชมาได้ไม่กี่วัน ก็ร้องไห้กระจองอแงหิวข้าวขึ้นมาก็ร้องจะกินข้าว กินขนม อุปัชฌาย์กับอาจารย์ก็ปลอบว่า ยังไม่ถึงเวลาฉัน รอให้รุ่งเช้าก่อนจึงจะฉันได้ ก็ไม่ยอม ร้องทั้งคืน บ้างก็อึรด ฉี่รดที่นอนเหม็นหึ่งไปหมด
พระพุทธเจ้าทรงสดับเสียงร้องของ “พระเด็ก” เหล่านี้ จึงตรัสถาม ครั้นทรงทราบความแล้ว จึงตรัสห้ามว่าต่อไปห้ามทำการอุปสมบทแก่เด็กชายอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์
เพราะฉะนั้น เวลา “นาค” จะเข้ามาบวช พระกรรมวาจาจารย์จึงถามว่า “ปริปุณฺณวีสติวสฺโสสิ” ท่านอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์หรือเปล่า นาคต้องตอบยืนยันว่า “อาม ภนฺเต” ครบขอรับ (อ่าน “อามะ พันเต”) ท่านจึงจะอนุญาตให้บวช
อีกคราวหนึ่ง ตระกูลหนึ่งป่วยด้วยอหิวาตกโรคตายกันเกือบหมด เหลือแต่พ่อกับลูกชายตัวเล็กๆ พ่อกับลูกชายจึงบวช เมื่อไปบิณฑบาตด้วยกัน เวลาพ่อได้อาหาร ลูกชายก็ร้องขอจากพ่อ ชาวบ้านเห็นแล้วก็ติเตียนว่า พระรูปนี้พาเด็กมาบิณฑบาตสงสัยเด็กคนนี้คงเป็นลูกนางภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งเป็นแน่ พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง จึงทรงบัญญัติห้ามว่า ต่อไปอย่าให้เด็กบวชพระ
เมื่อเด็กอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ถูกห้ามมิให้บวชเป็นพระภิกษุ พระสารีบุตรจึงกราบทูลถามพระพุทธเจ้า (เมื่อคราวที่ตรัสสั่งให้พระสารีบุตรบวชให้ราหุลกุมาร) ว่า “จะให้บวชด้วยวิธีไหนพระเจ้าข้า” พระองค์จึงตรัสว่า “บวชด้วยการถึงสรณคมน์ก็แล้วกัน” ราหุลกุมารผู้มีพระชนมายุ ๗ พรรษาจึงได้บวชเป็นสามเณรรูปแรก
เมื่อสามเณรรูปแรกอายุ ๗ ขวบ ก็เลยถือเป็นประเพณีว่า ผู้จะบวชเณรควรอายุตั้งแต่ ๗ ขวบขึ้นไป
ในพระวินัยปิฎกอีกนั่นแหละ เล่าต่อว่า คนในตระกูลอุปัฏฐากพระอานนท์ ตายหมด เหลือแต่เด็กชายเล็กๆ ๒ คน พระอานนท์มีความสงสารก็คิดจะให้เด็กทั้งสองบวชสามเณร เข้าใจว่าอายุคงไม่ครบ ๗ ขวบ เหมือนสามเณรราหุล พระอานนท์จึงไปกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความประสงค์ของตน พระพุทธองค์ตรัสถามว่า เด็กทั้งสองนั้นโตพอไล่กาได้ไหมอานนท์
“ ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ถ้าเช่นนั้น เธอให้บรรพชาเป็นสามเณรได้”
อรรถกถาอธิบายว่า เด็กอายุเท่าไรไม่สำคัญ “เด็กใดถือก้อนดินด้วยมือซ้าย นั่งแล้ว อาจเพื่อจะไล่กาทั้งหลาย ซึ่งพากันมาให้บินหนีไป แล้วบริโภคอาหารซึ่งวางไว้ข้างหน้าได้ เด็กนี้จัดว่าผู้ไล่กาไป จะให้เด็กนั้นบวชก็ควร” สรุปก็คือ เด็กพอรู้เดียงสา สามารถไล่กา ที่จะมาแย่งอาหารจากจานข้าวได้ ก็บวชเป็นเณรได้
ในคัมภีร์ บันทึกพฤติกรรมของสามเณรกัณฏกะ (สามเณรหนาม) ไว้เป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ ดังนี้
สามเณรหนาม มีประวัติเป็นมาอย่างไรไม่แจ้งชัดรู้แต่ว่าเป็นศิษย์พระอุปนนท์ แห่งศากยวงศ์
ท่านอุปนนท์ เป็นพระ “ดัง” (ในทางไม่ค่อยดี) รูปหนึ่ง ท่านเป็นพระนักเทศน์ รูปงาม ชอบสอนให้ลูกศิษย์ออกไปนั่งกรรมฐาน บ้างเดินจงกรมบ้างตามลานวัด ตนเองก็เข้ากุฏิปิดประตูนอน
พอเหล่าศิษย์บำเพ็ญเพียรจนเหนื่อยแล้ว คิดจะกลับมาเอนหลังสักหน่อย ท่านอุปนนท์ก็ตื่นขึ้นมาพอดี ออกมาไล่ให้ไปจงกรมหรือนั่งสมาธิต่อ จนพระลูกศิษย์ออกปากว่า อาจารย์เข้มงวดเหลือเกิน
บังเอิญศิษย์รูปหนึ่งแอบรู้พฤติกรรมของอาจารย์เข้า จึงบอกต่อๆ กันไป จึงได้รู้ทั่วกันว่า อาจารย์ของพวกตนเป็นประเภท “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”
เรื่องรู้ไปถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสสอนว่า
ควรปฏิบัติตนให้ดีก่อน แล้วค่อยสอนคนอื่น
ถ้าทำได้อย่างนี้ บัณฑิตจึงจะไม่มัวหมอง
กัณฐกะ สามเณรอยู่ใกล้ชิดพระอุปนนท์ ก็คงถอดแบบจากอาจารย์ สามเณรกัณฏกะจึงไม่ค่อยสำรวมสมเป็นสมณะที่ดี ปากคอเราะร้าย พบเจอนางภิกษุณี วันดีคืนดีก็ทำอนาจารกับภิกษุณีนามว่า กัณฏกี จนมีเรื่องฉาว
พระบาลีใช้คำว่า ภิกฺขุนึ ทูเสสิ = ประทุษร้ายภิกษุณี อนาจารํ อาจริสฺสติ = ประพฤติอนาจาร
ความประพฤติของสามเณรกัณฏกะ ศิษย์พระอุปนนท์ เป็นที่รับรู้กันทั่วไป จนพระพุทธเจ้าทรงวางบทบัญญัติไว้เพื่อกวดขันสามเณรต่อไป คือ
๑. ให้ทำทัณฑกรรม (คาดโทษ) แก่สามเณรผู้มีพฤติกรรม ๕ ประการ คือ
๑) ความพยายามเพื่อความเสื่อมลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย
๒) พยายามเพื่อความพินาศแห่งภิกษุทั้งหลาย
๓) พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย
๔) ด่า บริภาษ ภิกษุทั้งหลาย
๕) ยุยงให้ภิกษุต่อภิกษุแตกกัน
๒. ให้นาสนะ (ให้ฉิบหาย, คือไล่ศึก) แก่สามเณรผู้มีพฤติกรรม ๑๐ ประการ คือ
๑) ทำลายสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป (ฆ่าสัตว์)
๒) ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ให้ (ลักทรัพย์)
๓) กระทำการอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ (เสพกาม)
๔) กล่าวเท็จ
๕) ดื่มสุราเมรัย
๖) กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
๗) กล่าวติเตียนพระธรรม
๘) กล่าวติเตียนพระสงฆ์
๙) มีความเห็นผิด
๑๐) ประทุษร้ายนางภิกษุณี
ความซุกซนของสามเณรกัณฏกะ มองในแง่บวกก็เป็นผลดีแก่พระพุทธศาสนา คือ เป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์ทรงวางกฎเข้มงวดไม่ให้สามเณรทั้งหลายเอาเยี่ยงอย่างต่อไป
พระพุทธบัญญัติเรื่องนี้เรียกว่า “สามเณรสิกขา” = สิ่งที่สามเณรทั้งหลายพึงสำเหนียกปฏิบัติ ซึ่งสามเณรทั้งหลายในสยามประเทศสวดเตือนสติตัวเองทุกวัน หลังทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นจนกระทั่งปัจจุบันนี้