พระอนุรุทธเถระ สดมภ์หลักในวาระสุดท้ายแห่งพระพุทธองค์

พระอนุรุทธะ

พระอนุรุทธเถระ พระเถระรูปนี้เป็นพระ “สหภูมิ” (คือถือกำเนิดในเมืองกบิลพัสดุ์ อันเป็นเมืองมาตุภูมิของพระพุทธองค์) รูปหนึ่งที่ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านเป็นโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ พระอนุชาธิราชของพระเจ้าสุทโธทนะ มีพระเชษฐาร่วมพระอุทร คือ เจ้าชายมหานามะ และกนิษฐา คือ นางโรหิณี เจ้าชายอนุรุทธะเป็นคนที่สุขุมาลชาติมาก ว่ากันว่าคำว่า “ไม่มี” ไม่เคยได้ยิน อยากได้อะไรก็มักจะถูก “ประเคนให้” หมดตามต้องการ

วันหนึ่ง เจ้าชายอนุรุทธะ กับบรรดาศากยกุมารทั้งหลาย เล่นลูกขลุบพนันกันตามประสาเด็ก อนุรุทธะแพ้อยู่เรื่อย ส่งคนไปเอาขนมจากพระมารดา พระมารดาก็จัดขนมส่งให้ถึง ๓ ครั้ง พอครั้งที่ ๔ พระมารดาบอกคนไปว่า “ขนมไม่มี” เมื่อเขาทูลว่า “ขนมไม่มี” ก็ร้องบอกไปว่า “ขนมไม่มี นั่นแหละเอามา”

พระอนุรุทธะ

พระมารดาได้ยินรายงานดังนั้น จึงคิดว่า บุตรเราไม่เคยได้ยินคำว่าไม่มี จึงสั่งเอา “ขนมไม่มี” เราจะให้บุตรเรารู้ความจริงด้วยวิธีนี้

ว่าแล้วก็เอาถาดเปล่าครอบด้วยถาดอีกใบ สั่งให้คนนำไปให้โอรสของตน

ว่ากันว่าเทวดาที่รักษาพระนคร ทนไม่ได้ที่จะให้เจ้าชายอนุรุทธะเห็นถาดเปล่า จึงเอาขนมที่มีรสอร่อยที่สุดใส่ลงไปในถาด พอเปิดถาดออกเท่านั้น กลิ่นอันหอมหวนชวนรับประทานของขนมทิพย์ก็โชยไปทั่ว เจ้าชายน้อยเสียพระทัยมาก กลับไปต่อว่าพระมารดาว่าไม่รักตน เมื่อพระมารดาว่ารักยิ่งกว่าชีวิตของท่านเสียอีก จึงแย้งว่า
“ถ้าเสด็จแม่รักลูกจริง ทำไมไม่เคยเอาขนมไม่มีให้ลูกกินเหมือนวันนี้บ้าง”

เท่านั้นแหละ พระนางก็เลยรู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ อาจเป็นเพราะบุญญาบารมีของโอรสของตนก็ได้ จึงได้แต่นิ่งเงียบอยู่

เมื่อเจ้าชายแห่งศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ อันมีเจ้าชายภัททิยะ, ภคุ เป็นต้น ปรารภอยากบวชตามพระพุทธองค์ เจ้าชายมหานามะจึงกล่าวว่า ตระกูลเราควรจะมีใครสักคนบวช อนุรุทธะจึงถามว่า บวชเป็นอย่างไร

ได้รับคำบอกเล่าจากพระเชษฐาว่า ผู้บวชต้องอยู่ตามป่า ตามโคนต้นไม้เป็นส่วนใหญ่ เที่ยวภิกขาจารขออาหารเขายังชีพ ก็ร้องว่า พี่บวชเถอะ น้องไม่เอาด้วยแล้ว อยู่ครองเรือนดีกว่า

พระอนุรุทธะ

พระเชษฐาจึงสอนว่า การจะอยู่ครองเรือนนั้นยิ่งมีกิจที่ต้องจัดต้องทำมากมาย ยากกว่านักบวชอีก เจ้าชายอนุรุทธะจึงตัดสินใจบวช บวชแล้วท่านเจริญสมาธิภาวนาได้ทิพจักขุญาณ (ตาทิพย์) ภายหลังได้รับคำแนะนำจากพระสารีบุตรเกี่ยวกับมหาปุริสวิตก ๘ ประการ ท่านได้เดินทางไปสู่ปาจีนวังสทายวัน แคว้นเจตี สามารถทำได้บริบูรณ์ ๗ ข้อ ส่วนข้อสุดท้ายไม่สามารถทำได้ ได้รับคำแนะนำจากพระพุทธองค์ จึงเข้าใจ และในที่สุดได้บรรลุพระอรหัตผล

ท่านชอบเจริญอาโลกกสิณ เพ่งแสงสว่างเป็นประจำ จึงมีความเชี่ยวชาญเรื่องทิพพจักขุมาก จนพระพุทธองค์ตรัสยกย่องท่านว่าเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่นในทางมีทิพพจักขุ

เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ท่ามกลางพุทธบริษัทที่เฝ้าอยู่ด้วยความอาลัยนั้น พระอนุรุทธะเข้าฌานสมาบัติตามพระพุทธเจ้า แล้วบอกพุทธบริษัท อันมีพระอานนท์เป็นประธานในขณะนั้นว่า พระพุทธองค์ทรงเข้าและออกจากฌาน จนกระทั่งวาระสุดท้าย พระองค์ “ทรงดับสนิท” ในช่วงไหน

เพราะความที่ท่านอนุรุทธะนั้น มีความเชี่ยวชาญในการเข้าฌานสมาบัติ จึงเป็น “หลัก” แก่พุทธบริษัทได้ในวาระสำคัญเช่นนี้ เมื่อพระอนุรุทธะบอกว่า พระพุทธองค์ทรง “ดับสนิท” แล้วเท่านั้น พุทธบริษัทที่ยังเป็นปุถุชน และเสขบุคคลบางจำพวก ก็ร้องไห้คร่ำครวญอาลัยในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเถระเจ้าก็คอยแสดงธรรมปลอบโยนให้เข้าใจถึงความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่ง

ภาษิตที่ท่านกล่าวในโอกาสนี้มีว่า พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระทัยมั่นคง ผู้คงที่ไม่หวั่นไหว ทรงหมดลมหายใจแล้ว

พระมุนีเจ้าทรงทำกาละอย่างสงบแล้ว พระองค์มีพระทัยไม่หดหู่ ทรงระงับเวทนาได้ มีพระทัยหลุดพ้น ทรงดับสนิทแล้ว ดุจเปลวประทีปดับ ฉะนั้น

แสดงให้เห็นธรรมดาของสังขารว่า มีเกิดแล้วมีแปรเปลี่ยนและดับสลายไปในที่สุด แม้แต่องค์พระบรมศาสดาเอกแห่งไตรภพ ยังถึงวัน “ดับสนิท” ท่านเตือนให้พุทธบริษัทคิดได้ และได้คิด เพื่อที่จะไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต ขวนขวายเพื่อทำที่พึ่งแก่ตนให้ได้

พระอนุรุทธะนิพพานหลังพุทธปรินิพพานนานเท่าใด ไม่ปรากฏหลักฐาน