“ชื่อ” ศาสนาที่มักใช้ว่าพราหมณ์-ฮินดูในงานเขียนของผม ต้องใช้พราหมณ์หรือฮินดูกันแน่? แล้วต่างกันยังไง? ทำไมไม่ใช้สักอัน หรือต้องใช้ทั้งสองอัน?
คำถามที่ดูพื้นๆ แต่ไม่พื้นนี้ ถูกยกมาถามโดยคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เมื่อครั้งที่ท่านส่งคำถามมาถึงผม จากเดิมที่ผมไม่ได้คิดมาก่อนว่าคำถามนี้น่าจะตอบและสำคัญ
เพราะมันช่วยให้เห็นความเป็นมาและความซับซ้อนในตัวเองของศาสนาฮินดู
และที่ยิ่งไปกว่านั้น คนฮินดูในอินเดียเองกลับไม่เรียกศาสนาของตนว่าศาสนาฮินดูด้วยซ้ำ ซึ่งชวนให้งุนงงยิ่งขึ้นไปอีก
ปกติการใช้ชื่อศาสนา มักใช้ชื่อของศาสดาหรือสิ่งที่ศาสนานั้นเคารพ เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาไชนะ หรือไม่ก็ใช้คำที่ถูกเลือกมาแล้ว เช่น อิสลาม ที่หมายถึงสันติ
ในอินเดีย มักเรียกศาสนาด้วยคำว่า “ธรรม” (ธรฺม) เช่น เรียกพุทธศาสนาว่า เพาทธธรรม ศาสนาไชนะว่า ไชนธรรม โดยคำว่าธรรม มีความหมายหลายนัย หมายถึงศาสนา หลักคำสอน การปฏิบัติตามหน้าที่ หรือหมายถึงหลักจริยธรรมทางศาสนาก็ได้
คำว่าธรรม มาจากธาตุ “ธฺรี” หมายถึง ทรงไว้ รักษาไว้
ชาวฮินดูในอินเดียเรียกศาสนาของตนเองว่า “สนาตนธรรม” ซึ่งหมายถึงศาสนาอันมีมาแต่โบราณไม่เปลี่ยนแปลง (สนาตนะ ไม่เปลี่ยนแปลง, เก่าแก่) เพราะเขาเชื่อว่าศาสนาของตนเองนั้นมีมาแต่โบราณกาล ในเชิงประวัติศาสตร์ก็ว่าตั้งแต่สมัยพระเวท (vedic period) คือสามพันห้าร้อยปีถึงสี่พันปีที่แล้ว ในทางตำนานก็ว่าสืบทอดจากพระวิษณุมายังบรมฤษีและกษัตริย์ต่างๆ จนมาถึงปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ นอกจาก “สนาตนธรรม” ที่มักใช้กันอย่างเป็นทางการแล้ว จึงมีการเรียกว่า “ไวทิกธรรม” ซึ่งหมายถึง “ศาสนาพระเวท” อันหมายถึงหมวดคำสอนโบราณของฮินดู หรือมีผู้เรียกว่า “วิษณุธรรม” เพราะเชื่อว่าศาสนานี้สืบทอดมาจากพระวิษณุก็มี
ผมเคยเห็นผ่านตาคลับคล้ายคลับคลาว่า มีชื่อ “อารยธรรม” ในเอกสารของกรมการศาสนาในบ้านเราด้วย และใช้เป็นชื่อทางการ เห็นท่านว่าเรียกชื่อนี้ เพราะถือว่าศาสนานี้มาจากชาวเผ่า “อารยัน” ซึ่งคือคนกลุ่มที่นำพระเวทมาสู่ดินแดนอินเดีย
ส่วนคำที่เราคุ้นเคยกันอย่างพราหมณ์-ฮินดูนั้น นักวิชาการอินเดียเห็นว่าที่จริงสองคำนี้อาจแยกกันได้ เพราะแสดงถึงพัฒนาการคนละช่วงเวลาของศาสนา
ศาสนาพราหมณ์ (Brahmanism) ในเอ็นไซโคลพีเดียบริเตนนิกา หมายถึงศาสนาฮินดูโบราณ ซึ่งอยู่ในยุคพระเวทราวหนึ่งพันปีก่อนคริสตกาล
ศาสนาพราหมณ์เน้นความสำคัญของผู้ประกอบพิธีที่เรียกว่า “พราหมณ์” เน้นความสำคัญของการประกอบพิธีกรรมที่ปรากฏในพระเวท และบูชาเทพเจ้าที่ปรากฏในพระเวท
ในช่วงศตวรรษที่สิบเก้า นักภารตวิทยากำหนดคำนี้เพื่อแสดงถึงพัฒนาการของศาสนาที่จะกลายมาเป็นศาสนาฮินดูในภายหลังหรือแสดงว่าเป็นศาสนาที่อาจแยกออกมาได้จากฮินดู แต่ชาวฮินดูส่วนมากถือว่าศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาเดียวกันกับฮินดู
ศาสนาฮินดู (Hinduism) ถ้าอธิบายในเชิงประวัติศาสตร์ นักวิชาการเห็นว่าเริ่มต้นขึ้นในราว 550 หรือ 450 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งตกอยู่ในช่วงใกล้เคียงพุทธกาล การเปลี่ยนแปลงจากพราหมณ์มาสู่ฮินดู โดยหลักใหญ่คือการเปลี่ยนแปลงแนวคิดเกี่ยวกับเทพเจ้าในพระเวทมาสู่การนับถือเทพเจ้าที่สำคัญ “มหาเทพ” สององค์ได้แก่พระวิษณุและพระศิวะ และการท้าทายอำนาจของพราหมณ์ การให้ความสำคัญของการสละโลกซึ่งปรากฏในคัมภีร์อุปนิษัท
กระนั้นชื่อ “ฮินดู” (Hindu) กลับไม่ปรากฏในเอกสารโบราณของศาสนาฮินดูเอง เพราะชื่อนี้ไม่ได้เป็นภาษาสันสกฤตแท้ แต่เพี้ยนมาจากคำ “สินธุ” (Sindhu) ซึ่งเป็นชื่อแม่น้ำทางตอนเหนือของอินเดียและอารยธรรมในลุ่มน้ำนั้นในภาษาเปอร์เซียโบราณ ภาษานี้มักเปลี่ยน ส เป็น ห เช่น อสูร เป็น อหูร
คำ “ฮินดู” ปรากฏในราวหกร้อยปีก่อนคริสตกาลในจารึกของกษัตริย์ดาริอุสที่หนึ่งแห่งเปอร์เซีย มีความหมายเชิงภูมิศาสตร์ถึงกลุ่มคนที่อาศัยในลุ่มน้ำสินธุ มิได้หมายถึงศาสนาและความเชื่อใด
กว่าคำว่าฮินดูจะหมายถึงศาสนาฮินดู ก็ตกล่วงมาถึงราวคริสต์ศตวรรษที่สิบสี่แล้ว โดยปรากฏในวรรณกรรมของฝ่ายมุสลิม
โปรดสังเกตนะครับว่า ฮินดูเป็นการเขียนตามเสียง (Hindu) ที่จริงหากเขียนตามตัวอักษรควรเขียนว่า “หินทู” แต่ในบ้านเราไม่คุ้นเคยและไม่มีใครใช้
ดังนั้น ฮินดู-ฮินด์-อินเดีย คำนี้มาจากรากเดียวกันนะครับ มีความหมายเชื่อมโยงกัน และที่สำคัญ ถูกเรียกโดย “คนอื่น” (เปอร์เซีย ชาวมุสลิมอื่น และฝรั่ง)
ดังนั้น ความสำนึกว่าชื่อศาสนาของตนเองโดนเรียกโดยคนอื่นจึงทำให้ชาวฮินดูพยายามไม่เรียกศาสนาของตนเองว่าฮินดู แต่ใช้ “สนาตนธรรม” ดังที่กล่าวมา
แต่เอาเข้าจริงแล้ว แม้คำว่าสนาตนธรรมจะมีปรากฏในคัมภีร์โบราณ เช่น มนูสมฤติและภาควัตปุราณะ โดยมีความหมายถึงกฎเกณฑ์ของจักรวาล แต่คำนี้ถูกเน้นย้ำและรณรงค์ให้ใช้ในความหมายถึงศาสนาฮินดู ช่วงการปฏิรูปศาสนาต้นศตวรรษที่สิบเก้า ภายใต้ขบวนการศาสนาและชาตินิยมอินเดีย เพื่อปฏิเสธการใช้คำจากภาษาและวัฒนธรรมอื่น
ศาสนาฮินดูจึงไม่มีคำเรียกที่เป็นทางการใช้ร่วมกันมาตั้งแต่โบราณ โดยมากมักเป็นแต่คำเรียกกลุ่มก้อน นิกาย หรือขบวนการทางศาสนาเสียมากกว่า
ในเมืองไทยนี่ก็ซับซ้อนไม่แพ้กันครับ เราไม่น่าจะรู้จัก “ศาสนาฮินดู” เพราะเราเรียกศาสนานี้ว่า “ไสย” มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ไสยศาสน์ (ไม่ใช่ไสยศาสตร์นะครับ) หมายถึงศาสนาพราหมณ์ และใช้เรียกมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏในเอกสารสมัยรัชกาลที่สี่ยังเรียกเทวรูปพราหมณ์ เทวรูปพระไสยศาสตร์ (ตามคำสะกดเก่า) อยู่เลย
ส่วนคำฮินดู หรือพราหมณ์ฮินดู แม้มีปรากฏในจารึกวัดพระเชตุพน ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ไม่ได้ใช้ในความหมายถึงศาสนาใด แต่ใช้เรียกคนจากอินเดียภาคเหนือ ซึ่งเป็นพวกต่างภาษาพวกหนึ่งเท่านั้น
ผมสันนิษฐานว่า การเรียกศาสนาพราหมณ์แทนศาสนาพระไสย น่าจะเกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ห้าหรือหก ซึ่งเกิดการเข้ามาของความรู้ทางภารตวิทยาแบบอินเดียแล้ว จึงมีคำเรียกศาสนาพราหมณ์ตามแบบฝรั่ง (Brahmanism)
ทั้งนี้ ในเมืองไทยมีทั้งพวกพราหมณ์สยามเดิม ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ “พราหมณ์” ผู้ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และยังมีลักษณะความเชื่อที่มีความศักดิ์สิทธิ์แบบก่อนฮินดู หรือการผสมผสานกับพื้นเมือง จึงถูกเรียกว่าศาสนาพราหมณ์ตามลักษณะที่ปรากฏ
ส่วนพราหมณ์และชาวอินเดียที่เพิ่งอพยพมาใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้าเป็นต้นมา พวกนี้นำเอา “ศาสนาฮินดู” มาด้วย ซึ่งแตกต่างกับศาสนาพราหมณ์เดิมของเราพอสมควร ทั้งในแง่วัตรปฏิบัติและความเชื่อ โดยต่างมีศูนย์กลางทางศาสนาของตนเองแยกกัน
พวกนี้แหละครับ ที่เราหมายถึงผู้นับถือ “ศาสนาฮินดู”
ฉะนั้น แม้จะเป็นศาสนาเดียวกัน แต่ก็ใช้เรียกกันคนละแบบ เพราะมีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่ต่างกัน ที่จริงถ้าไม่เคร่งครัดนัก จะใช้เรียกแทนกันผมว่าก็ไม่ผิดอะไร
หรือจะเขียนพราหมณ์-ฮินดู เพื่อสื่อถึงทั้งสองกลุ่มก็ได้