หนึ่งในคำถามที่ข้าพเจ้าคิดว่าน่าสนใจที่สุดคำถามหนึ่งในชีวิตของข้าพเจ้าและตอบยากมากที่สุดในชีวิตของข้าพเจ้า คือ “เหตุใดข้าพเจ้าจึงนับถือศาสนาพุทธ” คำถามนี้เป็นประเด็นที่ถูกตั้งขึ้นทั้งจากผู้คนที่รู้จักซึ่งพยายามชักชวนให้ข้าพเจ้าเข้ารีตในความเชื่อของเขา ไปจนถึงรุ่นพี่ที่น่าเคารพนับถือซึ่งไม่มีความเชื่อในศาสนาใดๆ ว่าทำไมข้าพเจ้าจึงไม่ไปนับถือศาสนาอื่นอย่าง ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาฮินดู อื่นฯ หรือเลือกจะเป็น เอทิสต์ ไม่ก็เป็น คนไม่นับถือศาสนา ทำไมต้องเจาะจงเลือกที่จะสัทธาในคำสอนของตถาคต-สมณโคดม
.
แม้ในเบื้องแรกข้าพเจ้าไม่อาจจะตอบคำถามคนเหล่านั้นว่าเหตุใดข้าพเจ้าจึงนับถือในพุทธศาสนา แต่สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าแน่ใจอย่างแน่นอนเลยก็คือการนับถือศาสนาพุทธของข้าพเจ้านั้นมิใช่การเชื่อตามๆกันจากบรรพบุรุษแต่อย่างใด คำถามนี้ในกาลต่อมาจึงเป็นคำถามที่ข้าพเจ้าต้องคบคิดถึงมันอยู่ตลอดและกว่าที่ข้าพเจ้าจะได้คำตอบก็กินเวลาไปกว่า 4-5 ปีแล้ว ซึ่งต้องขอบคุณอุปนิสัยแบบเลนินน้อยของข้าพเจ้าที่พยายามสรรหาคำตอบอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะได้คำตอบที่มาจากเบื้องภายในใจและมีเหตุผลมีผลดีแล้วออกมาไม่ว่าจะนานเท่าไหร่ก็ตามหรือแม้แต่ชั่วขีวิต โชคดีที่คำถามนี้ไม่ใช้คำถามที่ต้องใช้เวลาขบคิดนานขนาดนั้น
.
ก่อนที่จะกล่าวถึงเหตุผลของการนับถือพุทธศาสนาข้าพเจ้าของยกตัวบทจาก”คัมภีร์โพธิจรรยาวตาร”ของท่านศาสนติเทวะ อาจารย์ในฝ่ายนิกายมัธยมกะ ซึ่งได้กล่าวเอาไว้ในบทหนึ่งเอาไว้ว่า
.
“ข้าฯ ขอแสดงความเสียใจต่อผู้ที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากความทุกข์ทรมานของผู้ประสบภัยพิบัติด้วยความทุกข์ทรมานจากความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยพิบัติ เหมือนกันเม่ือความสุขเป็นที่น่ายินดีแก่ผู้อื่นและผู้ว่าฯ แต่อย่างใดมีอะไรพิเศษที่เกี่ยวกับตัวข้าฯ เองท่านจะได้รับความสุขจากคนเมือง (8.94-
95)”
ถึงแม้ข้าพเจ้าจะนับถือต่อพระสัทธรรมในนิกายเถรวาทอย่างเคร่งครัดแต่ข้าพเจ้าก็ไม่ปิดโอกาสในการศึกษาคัมภีร์ของนิกายอื่นๆหรือคัมภีร์ในศาสนาอื่นๆ ซึ่งจาการศึกษานี้เองจึงทำให้ข้าพเจ้าคิดว่าคำถามที่เป็นปมเดียวกันกับ “เหตุใดข้าพเจ้าจึงนับถือศาสนาพุทธ” ซึ่งควรตอบก่อนหน้านั้นคือ”ข้าพเจ้าได้อะไรจากพุทธศาสนา”และจากที่ข้าพเจ้าศึกษาคัมภีร์พุทธศาสนาอย่างคร่ำเคร่ง(แม้จะไม่อาจเทียบเท่าได้กับพระเถระเจ้าผู้เป็นที่รักของทวยเทพและมนุษย์อย่าง”พระพุทธโฆสะ”)ข้าพเจ้าคิดว่าเหตุผลที่ข้าพเจ้านับถือศาสนาพุทธนั้นก็ด้วยเหตุที่ว่า คำสอนของพระพุทธองค์และพระเถระเจ้าทั้งหลายนั้น ได้ให้บางสิ่งอันได้แก่ ความรัก-ความเมตตา ความบริสุทธิ์ รวมถึงพระปัญญาญาณอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเปลี่ยนความเกียจคร้าน ความเฉยชา ทั้งหลายของข้าพเจ้าต่อเพื่อนมนุษย์ ให้กลายเป็นความวิริยะ ความกระตือรือร้นในการเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น เพื่อประโยชน์ของชุมชน เพื่อสิทธิเสรีภาพทั้งหลายของชนเหล่านี้ เพื่อความยุติธรรมต่อผู้ทุกข์ยาก และ เพื่อมวลภราดรภาพของมนุษย์ กระตุ้นมโนธรรมสำนึกภายในใจด้วยความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าที่ว่ามนุษย์เราเกิดมาเท่ากันโดยปรมัตถ์ธรรมหรือแต่เดิมโดยธรรมชาติ โดยมิอาจมีใครพรากเอาไปซึ่งสิทธิ เสรีภาพ หรือชีวิตของผู้อื่นที่มีมาแต่เดิมโดยสภาพธรรมไปได้ ข้าพเจ้าจะเดินตามไปบนทางความเชื่อนี้แม้ข้าพเจ้าอาจจำต้องสูญเสียซึ่งทรัพย์สิน อวัยวะ หรือ ชีวิต ก็ตาม ข้าพเจ้าก็ไม่อาจละทิ้งเป้าหมายนี้ไปได้
.
ซึ่งถ้าหากว่าความเชื่อของข้าพเจ้านั้นสามารถกระตุ้นเตือนให้ข้าพเจ้าสำนึกถึงประโยชน์ต่อชุมชนหรือต่อมนุษย์ผู้อื่น ต่อผู้ทุกข์ยาก ต่อเสรีภาพ ตามคำสอนด้านบนอยู่เป็นนิจแล้วละก็ ความคิดเช่นนี้ ความเชื่อเช่นนี้ ก็มีความชอบธรรมที่จะเป็นเครื่องนับถือหรือควรดำรงอยู่ต่อไปมิใช่ฤา ?
.
นี้อาจตอบได้แล้วเหตุใดข้าพเจ้าจึงนับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกับผู้อื่นที่มีความเชื่อ ความสัทธาในแบบของพวกเขา ซึ่งถ้าหากว่าความเชื่อของพวกเขาเหล่านั้นสามารถเผยความจริงถึงความเชื่อใน ความเทียมเท่า ความยุติธรรม และ เสรีภาพ แล้วไซร้ สามารถทำให้พวกเขาหวงแหนที่จะปกป้องสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ได้ พวกเขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนหรือไม่ต้องนับถือศาสนาใดๆทั้งสิ้นแต่ประการใดและความเชื่อเช่นนี้ ก็มีความชอบธรรมที่จะเป็นเครื่องนับถือหรือควรดำรงอยู่ต่อไปดุจกัน.
เชิงอรรถ
๑ สัทธา จากภาษาบาลี “สทฺธา” หมายถึง ความเชื่อ , ความเลื่อมใส
๒ โพธิจรรยาวตาร เป็นบทประพันธ์อันมีชื่อเสียงของท่านศานติเทวะ ผู้เป็นพระอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนาลันทาเมื่อประมาณคริสตศตวรรษที่ 8 เนื้อหาประกอบด้วยข้อเสนอแนะในการปฏิบัติธรรมของพระโพธิสัตว์ ผู้ซึ่งตั้งปณิธานจะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อจะได้ช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้อย่างเต็มที่ เนื้อหาประกอบด้วย ๑๐ ปริเฉท
๓ ท่านศานติเทวะ (ทิเบต: ཞི་བ་ལྷ།) เป็นพระสงฆ์ ปราชญ์ชาวอินเดีย กวีและผู้แต่ง โพธิจรรยาอวตาร ว่าด้วยการปฏิบัติของพระโพธิสัตว์สิบบท ท่านมี”วรรณะพราหมณ์”
๔ นิกายมัธยมกะ (สันสกฤต: मध्यमक Madhyamaka) เป็นนิกายในศาสนาพุทธฝ่ายมหายานยุคแรกที่ก่อตั้งโดยท่านนาคารชุนะ คำว่ามัธยมกะมาจากคำว่ามัชฌิมาปฏิปทา บางครั้งเรียกนิกายนี้ว่าศูนยตา เพราะคำสอนของนิกายนี้เน้นที่ความว่างเปล่าของสรรพสิ่ง และเรียกผู้ที่นับถือนิกายนี้เรียกว่า มาธยมิกะ (Mādhyamika) คณาจารย์สำคัญของนิกายนี้ เช่น จันทรกีรติ
๕ พระพุทธโฆสะ ( English: Buddhaghosa , Devanāgarī: बुद्धघोस, Chinese: 覺音/佛音 ) เป็นพระคันถรจนาจารย์เถรวาทผู้มีชีวิตอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 10 เป็นผู้แต่งคัมภีร์หลายเล่ม ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ”คัมภีร์วิสุทธิมรรค”ซึ่งรวบรวมแนวคำสอนเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้นจากทุกข์ การตีความคำสอนในพระพุทธศาสนาของท่านถือเป็นแนวคิดที่ใช้เป็นหลักในนิกายเถรวาทในปัจจุบัน ทั้งนักวิชาการตะวันตกและชาวพุทธเถรวาทต่างยอมรับว่าท่านเป็นอรรถกถาจารย์ที่สำคัญที่สุดในนิกายเถรวาท