อารยตริรัตนานุสมฤติสูตร บทอิติปิโสฝ่ายมหายาน
อารฺยตฺริรตฺนานุสฺมฤติสูตฺรมฺ
พระสูตรว่าด้วยการระลึกถึงพระรัตนตรัยอันประเสริฐ
อารยตริรัตนานุสมฤติสูตร แปลเป็นภาษาไทย พร้อมเสียงอ่านภาษาสันสกฤต
บทระลึกถึงพระรัตนตรัยหรือคนไทยเรียกบทอิติปิโสนั้น ปรากฎมีอยู่โดยทั่วๆไปปนในพระสูตรอื่นๆ ทั้งฝ่ายบาลีและสันสกฤต ทั้งสาวกยานและมหายาน เนื้อหาก็ใกล้เคียงกัน แต่บางพระสูตรอาจจะขยายความมาก แต่ก็ไม่ได้เป็นพระสูตรเอกเทศแต่อย่างใด
ในฝ่ายมหายานนั้นมี พระสูตรที่ว่าด้วยการระลึกถึงพระรัตนตรัย เป็นเอกเทศอยู่พระสูตรหนึ่งชื่อ อารยตริรัตนานุสมฤติสูตร มีเนื้อหาใกล้เคียงกับบทอิติปิโสของฝ่ายบาลี แต่ในส่วนระลึกถึงพระพุทธคุณ มีส่วนขยายมีเนื้อหาคล้ายใน สมาธิราชสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรมหายานในยุคแรก ๆ ซึ่งส่วนท้ายของพระพุทธคุณ จะปรากฏมติที่เป็นหลักข้อเชื่อใหญ่ของมหายานโดยเฉพาะ ที่เกียวกับคุณลักษณะและการดำรงอยู่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และลักษณะแห่งพระนิพพานในแบบมหายาน
อารยตริรัตนานุสมฤติสูตร นี้เป็นฉบับที่ธิเบตเก็บรักษาไว้ ชื่อในภาษาธิเบต ชื่อ ’phags pa dkon mchog gsum rjes su dran pa’i mdo และยังมีเนื้อหาภาษาสันสกฤตปรากฏในรายการดัชนีศัพท์ของคัมภีร์อภิธานศัพท์ ชื่อคัมภีร์มหาวยุตปัตติ เป็นอภิธานศัพท์สันสกฤต-ธิเบต-จีน อีกด้วย ปัจจุปันมีการแปลออกเป็นหลายฉบับหลายภาษา มีอรรถาธิบายไว้หลายฉบับเช่นกัน ในชื่อภาษาอังกฤษว่า The sutra of the recollection of the noble three jewels
นิรวาณในมหายาน
มหายานมี นิรวาณ หรือ นิพพาน 2 ประเภท
1.ประเภทแรก นิรฺวาณ คือ นิพพานสภาวะอันดับทุกข์โดยสิ้นเชิง หมดสิ้นเชื้อที่จะทำให้มาเกิดอีกในสังสารวัฏ ในทางเถรวาทมีเพียงนิพพานชนิดนี้เพียงอย่างเดียว และหลักข้อเชื่อของเถรวาทนั้นเชื่อว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับพระอรหันต์ทั้งปวงต่างก็บรรลุพระนิพพานนี้ ส่วนมหายานนั้นเชื่อว่า นิพพานชนิดนี้เป็นสภาวะที่พระปัจเจกพุทธเจ้า และ พระสาวกคือ พระอรหันต์บรรลุเท่านั้น ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบรรลุพระนิพพานอีกประเภท
2. ประเภทสอง อปฺรติษฺฐิต นิรฺวาณ คือ สภาวะการไม่เข้านิพพาน หรือ นิพพานไม่หยุดนิ่ง (non-abiding nirvana) หมายความว่า เป็นพระนิพพานที่ไม่ได้ตัดขาดออกจากสังสารวัฏ การบรรลุพระนิพพานแบบนี้ทางมหายานมีความเชื่อว่า ผู้บรรลุตัดขาดกิเลสทั้งหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว จะประกอบไปด้วยจิตตั้งมั่นที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ จะอยู่ในนิพพานแบบแรกก็ย่อมได้ [ดูเพิ่มเติมเรื่อง เรื่อง ยาน (มหายาน)] แต่ท่านไม่ทำเช่นนั้นเนื่องจากยังมีจิตที่ปรารถนาจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ สัตว์ที่จะทำเช่นนี้ได้ต้องเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ที่บรรลุพระโพธิสัตว์ภูมิที่ 10 แล้ว[ดูเพิ่มเติมเรื่อง โพธิสัตว์ทศภูมิ(มหายาน)] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้เหล่านี้จะดำรงอยู่ [ดูเพิ่มเติมเรื่อง ตรีกาย(มหายาน)] และปณิธานว่าจะช่วยเหลือดูแลสรรพสัตว์ ว่าตราบใดที่สัตว์โลกสุดท้ายยังไม่บรรลุพระนิพพานประเภทแรก ตราบนั้นก็จะยังอยู่ในสังสารวัฏเพื่อช่วยเหลือสัตว์เหล่านั้นต่อไป นิพพานประเภทนี้เถรวาทและพุทธศาสนาฝ่ายสาวกยานส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ
สรุปคำสอนของเถรวาทกับมหายานนั้น ทั้งสองฝ่ายเข้าใจพระนิพพานตรงกัน จุดมุ่งหมายสูงสุดก็คือนิพพานประเภทแรกเหมือนกัน แต่วัตถุประสงค์และวิธีการนั้นต่างกัน
สังฆะมหายาน
สังฆะมหายาน หรือสงฆ์ แบ่งไว้ 2 ประเภท ได้แก่ ภิกฺษุสํฆ อารฺยสํฆ
- ภิกฺษุสํฆ ( भिक्षुसंघ , bhikṣusaṃgha) บาลีเรียก ภิกขุสงฆ์ หรือ สมมุติสงฆ์ คือ ชุมชนสงฆ์ หรือหมู่ภิกษุทีทำสังฆกรรมต่างๆ ร่วมกัน
- อารฺยสํฆ ( आर्यसंघ , āryasaṃgha ) บาลีเรียก อริยสงฆ์ หรือ สาวกสงฆ์ ในฝ่ายสาวกยานหมายถึง เฉพาะพระอริยบุคคล 4 ประเภท ในพระสูตรนี้ ฉบับแปลอังกฤษ แปลว่า สงฆ์แห่งมหายาน เหตุเพราะพระสูตรนี้เป็นพระสูตรมหายาน คำว่า อารฺยสํฆ นี้ในมหายานจึงนับพระโพธิสัตว์ในภูมิทั้ง 10 เข้าไปด้วยเป็นอริยสงฆ์ ไม่ได้หมายถึง สาวกสงฆ์ เพียงอย่างเดียว