อนันตริยกรรม ๕ ประการ และ กรรมอันเสมือนกับอนันตริยกรรม ๕ ประการ ฝ่ายสันสกฤต
อนันตริยกรรม ๕ ประการ และ กรรมอันเสมือนกับอนันตริยกรรม ๕ ประการ ฝ่ายสันสกฤต
อนันตริยกรรม หรือ กรรมหนักที่สุดฝ่ายบาปอกุศล ๕ ประการ ปรากฏในอยู่ในพุทธศาสนา ในธรรมข้อนี้ ทั้งฝ่ายสาวกยาน และมหายาน กล่าวไว้ตรงกัน
ส่วน กรรมอันเสมือนกับอนันตริยกรรม ในธรรมข้อนี้ มีการกล่าวถึงในฝ่ายสาวกยานบางนิกาย อย่าง นิกายสรรวาสติวาท และ ฝ่ายมหายานได้นำไปขยายความต่อ ไม่ปรากฏในฝ่ายเถรวาท โดยมีรายละเอียดที่จะนำเสนอดังต่อไปนี้
อนันตริยกรรม ๕ ประการ และ กรรมอันเสมือนกับอนันตริยกรรม ๕ ประการ ฝ่ายสันสกฤต
ซึ่ง อนันตริยกรรม ๕ ประการ ได้แก่
๑. ฆ่ามารดา
ป. มาตุฆาต (mātughāta)
ส. มาตฤวธ (मातृवध : mātṛvadha) หรือ มาตฤฆาต (मातृघात : mātṛghāta)
๒.ฆ่าบิดา
ป. ปิตุฆาต (pitughāta)
ส. ปิตฤวธ (पितृवध : pitṛvadha) หรือ ปิตฤฆาต (पितृघात : pitṛghāta)
๓.ฆ่าพระอรหันต์
ป.อรหนฺตฆาต (arahantaghāta)
ส. อรฺหทฺวธ (अर्हद्वध ; arhadvadha) หรือ อรฺหทฺฆาต (अर्हद्घात : arhadghāta)
๔. ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต
ป. โลหิตุปฺปาท (lohituppāda) [ทำพระโลหิตให้ห้อ]
ส. ตถาคตทุษฺฏจิตฺตรุธิโรตฺปาท (तथागतदुष्टचित्तरुधिरोत्पाद : tathāgataduṣṭacittarudhirotpāda) [จิตประทุษร้ายพระตถาคตเจ้า ทำพระโลหิตให้ห้อ]
ความเชื่อในพุทธศาสนา เชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่อยู่ในฐานะ และโอกาสที่ผู้อื่นจะทำร้ายให้สิ้นพระชนม์ได้ ผู้มีจิตคิดประทุษร้ายให้สิ้นพระชนม์ ทำได้อย่างยิ่งเพียงให้พระองค์ห้อพระโลหิตเท่านั้น ข้อนี้พ้นสมัยที่จะทำได้แล้ว
๕.ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน (สังฆเภท)
ป. สงฺฆเภท (saṅghabheda) หรือ สํฆเภท (saṃghabheda)
ส. สํฆเภท (संघभेद : saṃghabheda)
ข้อนี้ทำได้เฉพาะพระภิกษุ คือ พระภิกษุที่เป็นอธรรมวาที สร้างความร้าวรานแห่งสงฆ์ ยุแยงให้สงฆ์ให้บาดหมางกัน ดูหมิ่นซึ่งกันและกัน จนขับไล่กัน หากทำสำเร็จ จนคณะสงฆ์ไม่ยอมทำอุโบสถร่วมกันอีก แยกกันทำปวารณา แยกกันทำสังฆกรรม ถึงจะเป็นสังฆเภท ข้อนี้มีรายละเอียดมาก ในที่นี้กล่าวแต่เพียงเท่านี้