หลักคำสอนสำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

หลักคำสอนสำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุด มีหลักธรรมสำคัญ ๆ ดังนี้

หลักธรรม ๑๐ ประการ
1. ธฤติ ได้แก่ ความพอใจ ความกล้า ความมั่นคง ซึ่งหมายถึง การพากเพียรจนได้รับความสำเร็จ
2. กษมา ได้แก่ ความอดทน นั่นคือพากเพียรและอดทน โดยยึดความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง
3. ทมะ ได้แก่ การข่มจิตใจของตนด้วยเมตตา และมีสติอยู่เสมอ
4. อัสเตยะ ได้แก่ การไม่ลักขโมย ไม่กระทำโจรกรรม
5. เศาจะ ได้แก่ การกระทำตนให้บริสุทธิ์ทั้งกายและใจ
6. อินทรียนิครหะ ได้แก่ การหมั่นตรวจสอบอินทรีย์ ๑๐ ประการ ให้ได้รับการตอบสนองที่ถูกต้อง
7. ธี ได้แก่ ปัญญา สติ มติ ความคิด ความมั่นคงยืนนาน นั่นคือมีปํญญาและรู้จักระเบียบวิธีต่าง ๆ
8. วิทยา ได้แก่ ความรู้ทางปรัชญา
9. สัตยา ได้แก่ ความจริง คือ ซื่อสัตย์ต่อกันและกัน
10. อโกธะ ได้แก่ ความไม่โกรธ

หลักอาศรม ๔ เป็นขั้นตอนการดำเนินชีวิตของผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพื่อยกระดับชีวิตให้สูงขึ้น มี ๔ ประการคือ
1. พรหมจารี เป็นขั้นตอนที่เด็กชายทุกคนที่เกิดในวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ต้องศึกษาเล่าเรียน ต้องเข้าพิธีมอบตนเป็นนักศึกษา และจะต้องปรนนิบัติรับใช้อาจารย์พร้อมกับศึกษาเล่าเรียน
2. คฤหัสถ์ เป็นวัยแห่งการครองเรือน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วกลับไปใช้ชีวิตทางโลก แต่งงานและมีบุตรเพื่อสืบสกุล โดยยึดหลักธรรมเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
3. วานปรัสถ์ เป็นขั้นที่แสวงหาธรรม โดยการออกบวชสู่ป่า เพื่อฝึกจิตใจให้บริสุทธิ์และเตรียมปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
4. สันยาสี เป็นขั้นสุดท้ายแห่งชีวิต โดยสละชีวิตทางโลกออกบวช บำเพ็ญเพียรตามหลักศาสนา เพื่อความหลุดพ้น