การนับถือพระโพธิสัตว์ที่ถูกต้องคือนับถืออย่างไร

การนับถือพระโพธิสัตว์

     บางทีก็สับสนกับความเป็นพระอริยะ-พระอรหันต์ คือเรื่องพระโพธิสัตว์ ในพระพุทธศาสนามีเรื่องพระโพธิสัตว์ เราก็นับถือพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์คือใคร ไม่ต้องตอบก็ได้ โยมก็รู้อยู่แล้ว พระโพธิสัตว์คือท่านผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้า

     พระพุทธเจ้าของเรานี้ ก่อนจะตรัสรู้ก็เคยเป็นพระโพธิสัตว์ตอนที่ยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ออกบรรพชาแล้วเข้าไปแสวงหาธรรมอยู่ในป่าก็เป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ จนกระทั่งตรัสรู้ในวันเพ็ญวิสาขบูชา คือวันเพ็ญเดือนหก เสร็จแล้วจึงเป็นพระพุทธเจ้า ก่อนเป็นพระพุทธเจ้าจึงเป็นพระโพธิสัตว์มาตลอด

     เราจึงมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ในปัจจุบันชาติ คือก่อนจะตรัสรู้ ตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วเราก็มีเรื่องเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ในอดีตก่อนชาตินี้อีกมากมายที่เราเรียกว่าชาดก ๕๔๗ เรื่อง แสดงถึงการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันนี่เอง เรียกว่า ๕๐๐ ถ้วนหรือ ๕๕๐ ชาติ แต่นับกันที่ตัวเลขจริงได้ ๕๔๗ เรื่อง

     ทีนี้เมื่อเรามีพระโพธิสัตว์ เรานับถือพระโพธิสัตว์ เรานับถืออย่างไรจึงจะถูกต้อง

     เวลานี้ก็มีพระโพธิสัตว์เกิดขึ้น อย่างที่กำลังนิยมมากคือ เจ้าแม่กวนอิม แล้วโยมรู้ไหม พระโพธิสัตว์ที่เรียกว่ากวนอิมนี้คือใคร? มีความเป็นมาอย่างไร? บางทีก็เรียกตาม ๆ กันไปว่า พระโพธิสัตว์ แต่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่าท่านมาจากไหน ไปอย่างไร มาอย่างไร เป็นพระโพธิสัตว์อย่างไร

     ความเป็นพระโพธิสัตว์นั้นอยู่ที่ว่าต้องบำเพ็ญบารมี บำเพ็ญคุณธรรมอย่างยวดยิ่งอย่างที่คนธรรมดาทั่วไปจะบำเพ็ญกันไม่ไหว ตั้งใจจะบำเพ็ญความดีข้อไหน เช่นบำเพ็ญทาน ก็บำเพ็ญได้อย่างสูงสุดจนกระทั่งสละชีวิตของตนเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นได้ เรียกว่าให้ชีวิต จะบำเพ็ญความเพียรพยายาม ก็เพียรพยายามอย่างยวดยิ่งไม่มีระย่อท้อถอย แม้ต้องสิ้นชีวิตก็ยอม นี่คือการบำเพ็ญบารมี หมายถึงคุณธรรมที่บำเพ็ญอย่างยวดยิ่ง

     พระโพธิสัตว์เมื่อบำเพ็ญบารมีครบแล้วก็คือได้พัฒนาพระองค์อย่างเต็มที่แล้ว ก็ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วเรานับถือพระโพธิสัตว์นั้นนับถืออย่างไร? นับถือเพื่ออะไร?

     ก็ขอตอบสั้น ๆ คือ นับถือเพื่อเอาเป็นแบบอย่าง เอาพระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่าง เป็นตัวอย่างอย่างไร ?

     พระโพธิสัตว์นั้นกว่าจะได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านต้องทำความดีมากมาย เพียรพยายามทำมายาวนานอย่างยากลำบากมากประสบอุปสรรคมาก แต่ก็ทำมาตลอดโดยไม่ระย่อท้อถอยจนประสบความสำเร็จ ท่านจึงเป็นตัวอย่างในการทำความดีของเรา

     พระโพธิสัตว์นั้นท่านมีปณิธานด้วย คือตั้งใจจะทำความดีอันไหนก็ทำจริง ๆ ทำเต็มที่แล้วก็มั่นคงด้วย เราก็ต้องพยายามทำอย่างนั้น โดยมีพระโพธิสัตว์เป็นแบบอย่าง จนกระทั่งเราสามารถเสียสละตัวเองได้เพื่อทำความดีนั้น ตลอดจนกระทั่งว่าพระโพธิสัตว์นี่เสียสละตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เราก็ต้องสามารถเสียสละผลประโยชน์ของตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เพื่อช่วยเหลือสังคม นี่คือคติพระโพธิสัตว์

พระพุทธเจ้า

     อันนี้ก็โยงมาหาพระพุทธเจ้า เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นหลัก พระพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้ได้ก็เป็นมาด้วยความเพียรพยายามและทำความดีมามากมาย เพราะอย่างนี้จึงทำให้เราเกิดความซาบซึ้งในพระคุณของพระพุทธเจ้า นี่ประการหนึ่ง ประการที่สองก็คือเป็นการเตือนตัวเราให้สำนึกในหน้าที่ที่จะพัฒนาตัว ที่จะทำความดีเพื่อจะบรรลุคุณธรรมเบื้องสูง

     การที่จะบรรลุสิ่งที่ดีงามประเสริฐสูงสุดเป็นพระอรหันต์เป็นพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาด้วยการหวังหรืออ้อนวอนเฉย ๆ แต่จะต้องเพียรพยายามทำ ฉะนั้นคนเราทุกคนจะต้องพัฒนาตัวเอง ต้องตั้งใจทำความดี คติพระโพธิสัตว์เตือนใจเราว่าเราจะต้องตั้งใจทำความดี บำเพ็ญคุณธรรมต่าง ๆ พร้อมกันนั้นก็เป็นกำลังใจแก่เรา ในเมื่อเราได้เห็นประวัติของพระโพธิสัตว์ว่าท่านทำความดีมากมาย อย่างเข้มแข็งและเสียสละ เราได้เห็นตัวอย่างแล้ว เราก็มีกำลังใจที่จะทำความดีนั้นให้ตลอด บางทีเราทำความดีไป เราเป็นปุถุชน บางทีเราก็อ่อนแอ เมื่อไปพบกับอุปสรรคบางอย่างหรือไม่ได้รับผลที่ปรารถนา เราก็เกิดความท้อแท้ เกิดความผิดหวัง

     คนจำนวนมากจะเป็นอย่างนี้ ทำความดีไประยะหนึ่งก็ไม่เข้มแข็งจริง ไม่มั่นคงจริง ไปประสบอุปสรรคหรือไม่ได้รับผลตอบแทนที่ต้องการก็เกิดความท้อถอย แล้วก็มองไปในด้านตรงข้ามว่า อ้าว คนนั้นคนนี้เขาทำไม่ดี เขาทำชั่วด้วยซ้ำ ทำไมได้ดี อย่างที่พูดกันว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” อะไรต่าง ๆ ก็จะตัดพ้อร้องทุกข์ขึ้นมา แล้วก็พาลพาโลพาเลเลยเลิกทำความดี อันนี้จะเป็นผลเสีย

     เมื่อได้เห็นประวัติของพระโพธิสัตว์ก็จะเกิดกำลังใจว่า พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ท่านทำความดี ท่านลำบากกว่าเราเยอะแยะอย่างที่ว่าเมื่อกี้ บางทีต้องเสียสละชีวิตก็มี บางทีพระองค์ทำความดีมากมาย เขาไม่เห็นความดี เขาเอาพระองค์ไปฆ่า พระองค์ก็ไม่ท้อถอย แล้วก็ทำความดีต่อไป เรามานึกดูตัวเราทำความดีแค่นี้แล้วจะมาท้อถอยอะไร พระพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ลำบากกว่าเรา ทำมากกว่าเรา ประสบอุปสรรคมากกว่าเรามากมาย ไปท้อถอยทำไม พอเห็นคติพระโพธิสัตว์อย่างนี้ เราก็มั่นคงในความดี สู้ต่อไป นี่แหละเป็นแบบอย่าง นี่คือการนับถือพระโพธิสัตว์ที่ถูกต้อง

     ท่านสอนมา ท่านเล่าเรื่องพระโพธิสัตว์มา ก็เพื่อเป็นแบบอย่างแก่เราในการทำความดี เป็นเครื่องเตือนใจเราไว้ทำให้เรามีกำลังใจ แล้วเราก็เดินหน้าเรื่อยไปไม่ท้อถอย

พระพุทธศาสนาในอินเดีย

     ตอนหลังมันเกิดปัญหา คือพระพุทธศาสนาในอินเดียระยะหลัง แข่งกับศาสนาฮินดู ศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์เดิมนั้น โยมก็รู้อยู่แล้ว เขานับถือเทพเจ้าต่าง ๆ มากมาย การนับถือเทพเจ้านั้นเพื่ออะไร ? ก็เพื่อจะได้ไปอ้อนวอนขอผลนั่นเอง ไปอ้อนวอนเซ่นสรวงบวงสรวงตลอดจนบูชายัญ คิดหาทางเอาอกเอาใจเทพเจ้า จะให้ท่านบันดาลสิ่งที่ต้องการให้ คนอินเดียติดเรื่องเช่นนี้มาจนถึงปัจจุบัน ต้องอ้อนวอนเทพเจ้า เทพเจ้าก็มีฤทธิ์สามารถเก่งกาจเหลือเกิน 

พระพุทธศาสนาในอินเดีย

     พระพุทธศาสนาอยู่ในอินเดียนาน ๆ มา บางทีก็ชักไม่มั่นคงในหลักเหมือนกัน ชักอยากจะสนองความต้องการของประชาชนที่อยากจะมีผู้มาช่วยดลบันดาลอะไรที่ต้องการให้