ให้พึ่งตน พึ่งธรรม
อานนท์ ! เราได้กล่าวเตือนไว้ก่อนแล้วมิใช่ หรือว่า “ความเป็นต่าง ๆ ความพลัดพราก ความเป็น อย่างอื่น จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ย่อมมี; อานนท์ ! ข้อนั้น จักได้มาแต่ไหนเล่า : สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยปรุงแล้ว มีความชำรุดไปเป็นธรรมดา, สิ่งนั้น อย่าชำรุดไปเลย ดังนี้; ข้อนั้น ย่อมเป็นฐานะที่มีไม่ได้”. อานนท์ ! เปรียบเหมือนเมื่อต้นไม้ใหญ่ มีแก่น เหลืออยู่ ส่วนใดเก่าคร่ำกว่าส่วนอื่น ส่วนนั้นพึงย่อยยับ ไปก่อน, ข้อนี้ ฉันใด; อานนท์ ! เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่มี ธรรมเป็นแก่นสารเหลืออยู่, สารีบุตรปรินิพพานไปแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน. อานนท์ ! ข้อนั้น จักได้มาแต่ไหนเล่า : สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยปรุงแล้ว มีความ ชำรุดไปเป็นธรรมดา สิ่งนั้นอย่าชำรุดไปเลย ดังนี้; ข้อนั้น ย่อมเป็นฐานะที่มีไม่ได้. อานนท์ ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; จงมีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ. อานนท์ ! ภิกษุ มีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ, มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็น สรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายเนือง ๆ อยู่, พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายเนือง ๆ อยู่, พิจารณาเห็นจิตในจิตเนือง ๆ อยู่, พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายเนือง ๆ อยู่; มีเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้. อานนท์ ! ภิกษุอย่างนี้แล ชื่อว่ามีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรมเป็น ประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่. อานนท์ ! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไป แห่งเราก็ดี ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตน เป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่. อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขา, ภิกษุพวกนั้น จักเป็นผู้อยู่ในสถานะอันเลิศที่สุด.