การปฏิรูปศาสนาในประเทศไทย(2): เรียนรู้จากประว้ติศาสตร์ศาสนาคริสต์และพุทธ
เกริ่นนำ บทความชุด “การปฏิรูปพุทธศาสนาในประเทศไทย” แบ่งออกเป็น 5 ตอน คือ ตอนที่ 1 ว่าด้วยภูมิหลังทางความคิดในการปฏิรูปพุทธศาสนาในประเทศไทย กล่าวถึงจินตภาพหรือจินตนาการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีอิทธิพลต่อสำนึกเรื่องการปฏิรูปพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ไทยหรือรัฐไทย ตอนที่ 2 ว่าด้วยความหมายของการปฏิรูปศาสนา โดยพิจารณาหาความหมายและนัยสำคัญจากตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ศาสนาคือ สังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 (ค.ศ.1962-1965) และย้อนไปดูสังคายนครั้งที่ 3 ของพุทธศาสนาเถรวาทในอินเดีย (ประมาณ 300 ปีก่อน ค.ศ) ทั้งสองตอนนี้จะเป็นบทตั้งต้นเพื่อนำไปสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการปฏิรูปศาสนาในประเทศไทยที่จะกล่าวถึงในตอนที่ 3-4 การปฏิรูปศาสนาคืออะไร จากสายตาคนนอก ปีเตอร์ แจ็คสัน (Peter Jackson) แบ่งพุทธศาสนาไทยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ตามลักษณะชนชั้นในสังคมไทยคือ รูปแบบที่หนึ่ง ได้แก่ “พุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง” ซึ่งสนับสนุนโดยชนชั้นปกครองและชนชั้นสูง รูปแบบที่สอง ได้แก่ “พุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป” ที่ได้รับการสนับสนุนจากคนชั้นกลาง รูปแบบที่สาม ได้แก่ “พุทธศาสนาแบบไสยศาสตร์” ที่ได้รับการสนับสนุนจากคนสามัญในทุกชนชั้นโดยเฉพาะชนชั้นล่างอันรวมถึงชาวนาและกรรมกรในเมือง [1] ตามความคิดนี้ พุทธศาสนาของชนชั้นปกครองมีลักษณะสำคัญคือเป็นพุทธศาสนาที่ได้รับการตีความให้สนับสนุนการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เน้นการตีความเชิงอภิปรัชญา โดยเฉพาะคำสอนเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ที่โยงกรรมในอดีตชาติให้สัมพันธ์กับความทุกข์ยากของผู้คนในปัจจุบัน บุคคลที่มีสถานภาพสูงสุดในทางสังคมคือผู้ที่สั่งสมบุญกุศลในอดีตชาติมาดีจึงควรจะได้เป็นผู้ปกครองประเทศ ซึ่งตามธรรมเนียมที่ยึดถือกันมาแต่โบราณ พระมหากษัตริย์เป็นบุคคลที่มีบุญบารมีมากที่สุดจึงอยู่ในสถานะที่สูงสุดของสังคม เชื่อกันว่าแนวคิดนี้เป็นอิทธิพลของศาสนพราหมณ์จากอาณาจักรขอมที่มีต่อราชสำนักไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา และถือสืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ตามรูปแบบที่แจคสันแบ่งไว้ พุทธศาสนาของชนชั้นปกครองและพุทธศาสนาแบบไสยศาสตร์เป็นพุทธศาสนาที่ยังไม่ได้ปฏิรูป ถ้าใช้เกณฑ์ช่วงเวลามาพิจารณา พุทธศาสนาซึ่งยังไม่ได้เข้าสู่การปฏิรูปนั้นได้แก่พุทธศาสนาที่นับถือกันมาก่อนช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 ส่วนพุทธศาสนาแนวปฏิรูปที่กล่าวถึงในที่นี้หมายถึงพุทธศาสนาที่ได้รับการตีความใหม่ในช่วงเวลาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 19 หรือสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา หมายความว่า นับแต่ช่วงเวลานับแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา พุทธศาสนาไทยได้รับการปฏิรูปให้มีลักษณะแตกต่างไปจากเดิม ถ้าเช่นนั้นความหมายของการปฏิรูปที่กำลังพูดถึงอยู่นี้คืออะไร ? โดนาลด์ สเวเรอร์ (Donald K. Swearer) ได้ให้คำจำกัดความ “การปฏิรูปศาสนา” ไว้ว่า “การปฏิรูปจะพิจารณาถึงความรู้สมัยใหม่อย่างจริงจังแต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธศาสนา โดยพื้นฐานแล้วการปฏิรูปเป็นการตีความระบบศาสนาเสียใหม่ โดยคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งระดับสังคมและระดับบุคคล เมื่อมองจากทรรศนะของแนวคิดแบบเหตุผลนิยมแล้ว อาจกล่าวได้ว่าการปฏิรูปเป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงหลักการที่สำคัญบางอย่างซึ่งหล่อหลอมสถาบันและวัฒนธรรมของศาสนาหนึ่งเพื่อว่าความจริงที่เป็นแก่นแท้ (และเป็นสากลด้วย) ของศาสนานั้นจะได้รับการตีความใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ที่เป็นอยู่จริง” [2] ตามคำนิยามนี้ “การปฏิรูปศาสนา” จะเกิดขึ้นเมื่อได้เผชิญหน้ากับความรู้สมัยใหม่ที่อาจทำให้ตั้งข้อสงสัยต่อระบบความรู้หรือแนวปฏิบัติเดิมของศาสนาว่า ยังเป็นระบบที่ใช้การได้หรือไม่ การปฏิรูปศาสนาจึงเกี่ยวข้องกับ “ความรู้ชนิดใหม่” ที่ปรากฏขึ้นในสถานการณ์นั้น ณ เวลานั้น ถ้าถือตามคำนิยามข้างบนไม่เพียงแต่ความรู้นั้นจะเป็นความรู้ใหม่ แต่ต้องเป็นความรู้ “สมัยใหม่” อีกด้วย ความรู้ที่มาใหม่ (และเป็นสมัยใหม่) เป็นความรู้ที่ทำให้รู้สึกไม่แน่นอนใจใน “ความรู้” ที่เคยยึดถือกันมาจนทำให้ศาสนิกชนต้องหันไปทบทวน “ความรู้เดิม” ของตนอย่างจริงจัง โดยการตั้งคำถามต่อข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหาในยุคสมัย แล้วจินตนาการถึง “สภาพการณ์ใหม่” ที่เป็นความหวังของอนาคต เมื่อพบว่าหลักการบางอย่างที่หล่อหลอมสถาบันและวัฒนธรรมศาสนา เป็นปัญหาหรืออุปสรคต่อการทำความเข้าใจ “ความจริง” ทางศาสนา ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง “หลักการ” ดังกล่าวนั้นเพื่อให้ “ความจริงที่เป็นแก่นแท้” (และเป็นสากล) ของศาสนานั้นได้รับการตีความใหม่ให้สอดคล้องกับ “สถานการณ์ใหม่” ที่เป็นอยู่จริง สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ของศาสนจักรโรมันคาทอลิก ตัวอย่างที่จะสะท้อนคำนิยาม “การปฏิรูปศาสนา” ที่ว่านี้ได้ดีที่สุด น่าจะได้แก่ การปฏิรูปของศาสนจักรโรมันคาทอลิกซึ่งเกิดขึ้นจากสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 (ค.ศ.1962-1965) ดังที่เสรี พงศ์พิศ เขียนไว้ว่า “สังคายนาวาติกันครั้งที่สองนับเป็นสังคายนา “สากล” ครั้งแรกในความหมายที่แท้จริง เพราะเป็นครั้งแรกที่พระสังฆราชผู้เข้าร่วมประชุมมาจากทั่วโลก และหัวข้อการพิจารณานั้นกินความครอบคลุมไปจนทั่วพระศาสนจักร ทั้งนี้เพราะทุกครั้งที่ผ่านมาดูเหมือนจะจำกัดอยู่แต่เพียงในยุโรปและประเทศตะวันตกเท่านั้น อีกทั้งประเด็นที่ได้รับการพิจารณาก็จำกัดอยู่ภายแวดวงภายในของพระศาสนจักรในตะวันตกเท่านั้น จุดหมายของสังคายนาครั้งนี้คือการพิจารณาสภาพการณ์ของโลกปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มองดู “เครื่องหมายแห่งกาลเวลา” (Signs of Times) และพยายามหาคำตอบจากจุดยืนทางศาสนาให้กับสังคมปัจจุบัน โดยเลือกสรรประเด็นเรื่องที่เหมาะกับยุคสมัยมากที่สุดมาพิจารณา ซึ่งนับเป็นการเปิดแนวทางที่แตกต่างออกไปจากสังคายนาครั้งอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ เพราะไม่มีการพิจารณาประณามและ “กล่าวโทษ” คำสอนที่ผิด (Heresy) ใด ๆ หากแต่เป็นการริเริ่ม “เสวนา” (Dialogue) กับแนวคิดและวิถีชีวิตที่ต่างออกไปจากตนด้วยใจเปิดกว้างขึ้น” [3] ความจริง การปฏิรูปศาสนาของศาสนจักรคาทอลิกนั้นเกิดขึ้นมาตลอดหลายศตวรรษ แต่สภาสังคายนาครั้งที่สองนี้น่าจะเป็นตัวอย่างการปฏิรูปศาสนาที่ล้ำสมัยที่สุดและทำให้ศาสนจักรโรมันคาทอลิกในปัจจุบันมีแนวคิดล้ำหน้ากว่าศาสนาใด ๆ ณ เวลานี้ก็ว่าได้ แนวคิดหลักในการประชุมสภาวาติกันครั้งที่สองคือ “aggiornamento” ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า “getting up to today” คือ “ลุกขึ้นสู่ปัจจุบัน” กล่าวได้ว่าศาสนจักรโรมันคาทอลิกในช่วงเวลานั้นกำลังถูกกระตุ้นให้ “ทันสมัย” [4] เจตนาสำคัญที่สุดคือต้องการทำให้ศาสนจักรเป็นเครื่องหมายที่เรียบง่าย น่าเชื่อถือและทุกคนเข้าใจได้ [5] การสังคายนาจึงมุ่งจะ“ฟื้นฟูพลังของพระศาสนจักรและแสวงหารูปแบบใหม่ที่ถูกนำไปใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการปัจจุบัน” ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อโลกและต่อสถานภาพของศาสนจักรในโลกนี้ …..อ่านต่อ