ปัญญากับบารมีหก
บารมีประการสุดท้ายที่กุงกาซังโปริมโปเชได้บรรยายไว้คือปัญญาบารมี หรือในภาษาสันสกฤตว่า “ปรัชญาปารมิตา” ปัญญาบารมีเป็นขั้นสุดท้ายของบารมีทั้งหกของพระโพธิสัตว์ และก็เป็นขั้นตอนที่ทำให้การบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเป็นไปได้ อาจกล่าวได้ว่าบารมีห้าประการแรก ได้แก่ ทาน ศีล ขันติ วิริยะ และสมาธิ เป็นขั้นตอนที่นำไปสู่การบรรลุบารมีที่หกนี้ ดังนั้นในแง่นี้ปัญญาบารมีจึงถือได้ว่าเป็นบารมีที่สำคัญที่สุดของพระโพธิสัตว์ อย่างไรก็ตามหากไม่มีบารมีที่มาก่อนทั้งห้า ปัญญาบารมีก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ด้วยเหตุนี้บารมีทั้งหกจึงมีสถานะเท่าเทียมกัน เนื่องจากไม่อาจขาดอย่างใดอย่างหนึ่งได้ แต่ถึงกระนั้้นปัญญาบารมีก็ยังมีความสำคัญเป็นพิเศษเพราะเป็นแก่นแท้ของการบรรลุธรรม ปัญญาบารมีได้แก่การรู้แจ้งเห็นจริงถึงสภาวธรรมตามที่เป็นอยู่จริงๆ และหัวใจของการรู้แจ้งนี้ก็คือการมองเห็นว่าสรรพสิ่งล้วนเป็น “ของว่าง” หรือ “ศูนยตา” คำว่า “ศูนยตา” (หรือเขียนว่า “สุญญตา” ในภาษาบาลี) ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจและการตีความที่ไม่ถูกต้องเป็นอันมาก บางคนเข้าใจไปว่าอะไรที่เป็นของว่างก็คือไม่มีอะไรเลย สูญไปหมด ไม่เหลืออะไรไว้ ความคิดเช่นนี้ไม่ถูกต้อง การเป็น “ของว่าง” ไม่ได้หมายความว่าของต่างๆล่องหนไปแบบถูกเสกโดยนักมายากล บางคนก็คิดว่าการเป็น “ของว่าง” หรือ “ศูนยตา” นี้เป็นสภาวะในระดับหนึ่งที่แยกออกจากโลกธรรมชาติที่เรามองเห็นรับรู้อยู่ เช่นมีสวรรค์ของศูนยตาที่บรรดาของว่างทั้งหลายไปรวมกันอยู่ แล้วคนที่เข้าถึงศูนยตาได้ก็คือคนที่ได้รับสิทธิให้เข้าไปท่องเที่ยวในสวรรค์แห่งนี้ ความคิดนี้ยิ่งเตลิดเปิดเปิงเข้าไปใหญ่ แท้จริงแล้วศูนยตาไม่ได้อยู่ที่ไหนไกลตัวจากเรา แต่อยู่ที่นี่ เวลานี้ อยู่กับตัวเราทุกเวลานาที เพียงแต่ว่าเราไม่ได้สนใจที่จะไปรับรู้ศูนยตานี้ ก็เลยคิดไปว่าอยู่ไกลไปจากเรามาก จะว่าไปศูนยตาก็ไม่ต่างอะไรจากสิ่งต่างๆในโลกธรรมชาติที่เราเห็นอยู่ทุกวัน ของพื้นฐานต่างๆเช่นโต๊ะ เก้าอี้ ก็เป็น “ของว่าง” หรือจะพูดให้ถูกก็น่าจะบอกว่าเป็น “ความว่าง” เพราะการเป็น “ของว่าง” เท่ากับมีของอยู่ แล้วของนั้นมีคุณสมบัติว่าง แต่ความเป็นศูนยตาหมายถึงว่า ไม่มีของอะไรเลยที่อยู่เป็นแก่นสาร ดังนั้นจึงไม่มี “ของ” อะไรให้ “ว่าง” แต่การพูดเช่นนี้ก็ต้องระวังว่าไม่ใช่การยืนยันว่าจริงๆแล้วไม่มีอะไรเลย โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ ต่างก็มีอยู่จริง เพียงแต่ว่ามันไม่มีมีอยู่จริง จริงๆ เท่านั้นเอง การที่โต๊ะเก้าอี้มีอยู่จริงในระดับหนึ่ง แต่ไม่มีอยู่จริงจริงๆ เป็นตัวอย่างของ “ความจริงสองระดับ” ที่กุงกาซังโปริมโปเชพูดถึงในการบรรยายเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ความจริงสองระดับนี้ได้แก่ความจริงขั้นสูง (“ปรมัตถสัจจะ”) กับความจริงพื้นๆหรือความจริงธรรมดา (“สมมติสัจจะ”) ทั้งสองเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ใช่ว่าความจริงขั้นสูงจะแยกตัวออกไปเป็นอีกโลกหนึ่ง โต๊ะเก้าอี้ก็เป็นทั้งความจริงขั้นสูงและความจริงธรรมดาไปด้วยในเวลาเดียวกัน ทั้งโต๊ะกับเก้าอี้ต่างก็ไม่ได้มีความเป็นแก่นแท้ของตัวเอง หมายความว่าโต๊ะตัวนี้ไม่ได้เป็นโต๊ะมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่เพิ่งมาเป็นโต๊ะเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อไม้ท่อนนี้ถูกเปลี่ยนรูปในเป็นโต๊ะในโรงงาน เก้าอี้ตัวนี้ก็เช่นเดียวกัน และเราก็เข้าใจว่าในอนาคตอีกไม่นาน ทั้งโต๊ะกับเก้าอี้ตัวนี้ก็จะไม่มีอยู่ ถ้าไม่ถูกขายทอดตลาดเป็นขยะ ก็อาจจะถูกไฟเผา หรือพังทลายสูญสลายไปด้วยวิธีอื่น ดังนั้นที่มันเป็นโต๊ะเป็นเก้าอี้อยู่ได้ ก็เพราะเราไปมองมันแล้วก็ไปยึดถือว่ามันเป็นเช่นนั้น แต่ในระดับของความจริงสมมติ โต๊ะเก้าอี้ก็มีความเป็นจริงแบบเดียวกับสิ่งอื่นๆที่อยู่ในสถานะเดียวกัน ความจริงสมมติหรือความจริงธรรมดา ก็คือความจริงที่เราคุ้นเคยอยู่เป็นอย่างดี โต๊ะกับเก้าอี้ในระดับความจริงธรรมดานี้ ก็คือโต๊ะกับเก้าอี้ตามปกตินั่นเอง ความจริงสองระดับนี้แท้จริงแล้วเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็คือโต๊ะกับเก้าอี้เป็นทั้งตัวมันตามที่ปรากฏ และเป็นความว่างไปด้วยในขณะเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ความว่างหรือศูนยตาที่สามารถกำจัดอวิชชาได้นั้น จะต้องเป็นปัญญาที่มาจากการทำสมาธิและประกอบด้วยการเห็นความจริงตามที่เป็นอยู่จริงๆ การเห็นเช่นนี้ไม่เพียงแต่เป็นการคิดตามหลึกของตรรกวิทยาเท่านั้น คนบางคนอาจมีความสามารถในการคิดตามหลักเหตุผลหรือตรรกวิทยาเป็นอย่างมาก เขาอาจอธิบายเรื่องความว่างได้เป็นคุ้งเป็นแคว แต่ตราบใดที่เขาไม่ได้ทำสมาธิแลไม่ได้เห็นความว่างด้วยจิตอันสงบเป็นสมาธิ ก็ยังเรียกไม่ได้ว่าเขาเข้าถึงปัญญาบารมีจริงๆ เรื่องนี้เปรียบได้กับการว่ายน้ำ คนที่ว่ายน้ำเป็นจะทราบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างการลงไปว่ายน้ำให้น้ำสัมผัสตัวจริงๆ กับการพูดถึงการว่ายน้ำในเชิงทฤษฎีแต่ไม่ได้ลงไปว่าย ในทำนองเดียวกันการอธิบายความว่างหรือศูนยตาตามหลักของเหตุผล กับการมีประสบการณ์ตรงหรือการเห็นความว่างโดยตรงก็แตกต่างในแบบเดียวกัน