ครุฑกับนาคตำนานแค้นสองเผ่าพันธุ์
ตามตำนานของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เล่าว่า ในครั้งบรรพกาลยังมีมหาเทพฤษีองค์หนึ่งนามว่า พระกัศยปมุนี ซึ่งเป็นฤษีที่มีฤทธิ์เดชมากและเป็นผู้ให้กำเนิดเทพอีกหลายองค์จนถูกเรียก ขานว่า พระกัศยปเทพบิดร พระองค์มีชายาหลายองค์ โดยในบรรดาชายาทั้งหลายนั้นมีชายาสององค์ซึ่งเป็นพี่น้องกันนามว่า วินตาและกัทรุ นางทั้งสองได้ขอพรให้กำเนิดบุตรจากพระกัศยป โดยนางกัทรุได้ขอพรว่าขอให้มีบุตรจำนวนมาก ซึ่งต่อมาก็ได้ให้กำเนิดนาคหนึ่งพันตัว อาศัยอยู่ในแดนบาดาล ส่วนนางวินตาขอบุตรเพียงสององค์และขอให้ลูกมีอำนาจวาสนา ซึ่งเมื่อนางคลอดบุตร ก็ปรากฏว่าออกมาเป็นไข่สองฟอง ด้วยความทนรอดูหน้าบุตรไม่ไหว นางจึงทุบไข่ฟองหนึ่งและปรากฏเป็นเทพบุตรที่มีกายเพียงครึ่งบนชื่อ อรุณ อรุณเทพบุตรโกรธมารดาที่ทำให้ตนออกจากไข่ก่อนกำหนดจนมีร่างกายไม่ครบ จึงสาปให้มารดาของตนต้องเป็นทาสนางกัทรุโดยกำหนดให้บุตรคนที่สองของนางเป็น ผู้ช่วยนางให้พ้นจากความเป็นทาส จากนั้นจึงขึ้นไปเป็นสารถีให้กับพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ นางวินตาจึงไม่กล้าทุบไข่ฟองที่สองออกมาดู และรอจนถึงกำหนด จนเมื่อไข่ฟักออกมา ก็ปรากฏเป็น พญาครุฑ ซึ่งเมื่อแรกเกิดนั้นก็มีร่างกายขยายออกใหญ่โตจนจรดฟ้า ดวงตายามกะพริบเหมือนฟ้าแลบ เวลาขยับปีกคราใด ขุนเขาก็จะตกใจหนีหายไปพร้อมพระพาย รัศมีที่พวยพุ่งออกจากกายมีลักษณะดั่งไฟไหม้ทั่วสี่ทิศ ในกาลต่อมา นางกัทรุและนางวินตาได้ท้าพนันกันถึงสีของม้าอุไฉศรพ (บางตำราก็ว่าม้าทรงรถของพระอาทิตย์) ที่เกิดเมื่อคราวกวนเกษียรสมุทรและเป็นสมบัติของพระอินทร์ โดยพนันว่าใครแพ้ต้องเป็นทาสอีกฝ่ายห้าร้อยปี นางวินตาทายว่าม้าสีขาว ส่วนนางกัทรุทายว่าสีดำ ซึ่งความจริงม้าเป็นสีขาวดังที่นางวินตาทาย แต่นางกัทรุใช้อุบายให้นาคลูกของตนแปลงเป็นขนสีดำไปแซมอยู่เต็มตัวม้า (บางตำนานว่าให้พ่นพิษใส่จนม้าเป็นสีดำ) นางวินตาไม่ทราบในอุบายนี้เลยยอมแพ้ จนต้องเป็นทาสของนางกัทรุถึงห้าร้อยปี ภายหลังเมื่อครุฑได้ทราบถึงสาเหตุที่มารดาต้องตกเป็นทาส จึงไปเจรจาขอให้พวกนาคยอมปล่อยมารดาตน พวกนาคจึงสั่งให้พญาครุฑไปเอาน้ำอมฤตมาให้เพื่อแลกกับอิสรภาพของนางวินตา พญาครุฑจึงบินไปสวรรค์ไปเอาน้ำอมฤตซึ่งอยู่กับพระจันทร์ แล้วคว้าพระจันทร์มาซ่อนไว้ใต้ปีก แต่ถูกพระอินทร์และทวยเทพติดตามมาและเกิดต่อสู้กันขึ้น ฝ่ายเทวดานั้นไม่อาจเอาชนะได้ ร้อนถึงพระวิษณุหรือพระนารายณ์ต้องมาช่วยขวางครุฑไว้และต่อสู้กัน ทว่าต่างฝ่ายต่างไม่อาจเอาชนะกันได้ ทั้งสองจึงทำความตกลงยุติศึก โดยพระวิษณุทรงให้พรแก่ครุฑว่าจะให้ครุฑเป็นอมตะและให้อยู่ตำแหน่งสูงกว่า พระองค์ ส่วนครุฑก็ถวายสัญญาว่าจะเป็นพาหนะของพระวิษณุและเป็นธงครุฑพ่าห์สำหรับปัก บนรถศึกของพระวิษณุอันเป็นที่สูงกว่า จากนั้น พญาครุฑก็นำหม้อน้ำอมฤตลงมา ทว่าพระอินทร์ได้ตามมาขอคืน พญาครุฑก็บอกว่าตนจำต้องรักษาสัตย์ที่จะนำไปให้เหล่านาคเพื่อไถ่มารดาให้พ้น จากการเป็นทาสและให้พระอินทร์ตามไปเอาคืนเอง จากนั้นครุฑได้เอาน้ำอมฤตไปให้นาคโดยวางไว้บนหญ้าคาและได้ทำน้ำอมฤตหยดบน หญ้าคา 2-3 หยด (ด้วยเหตุนี้ หญ้าคาจึงถือเป็นสิ่งมงคลในทางศาสนาพราหมณ์) ส่วนนาคเมื่อเห็นน้ำอมฤตก็ยินดี จึงยอมปล่อยนางวินตาให้เป็นอิสระ ขณะที่เหล่านาคพากันไปสรงน้ำชำระกายเพื่อเตรียมมาดื่มน้ำอมฤตนั่นเอง พระอินทร์ก็รีบมานำหม้อน้ำอมฤตกลับไป ทำให้พวกนาคไม่ได้กิน พวกนาคจึงเลียที่ใบหญ้าคาด้วยเชื่อว่าอาจมีหยดน้ำอมฤตหลงเหลืออยู่ ทำให้ใบหญ้าคาบาดกลางลิ้นเป็นทางยาว (เรื่องนี้กลายเป็นที่มาว่าทำไมงูจึงมีลิ้นเป็นสองแฉกสืบมาจนทุกวันนี้) แม้ว่าจะไถ่ตัวมารดากลับมาได้แล้ว แต่พญาครุฑยังแค้นใจที่พวกนาคใช้เล่ห์กลจนมารดาของตนต้องตกเป็นทาส ทำให้พญาครุฑและเหล่าลูกหลานรุ่นต่อมา ตั้งตนเป็นศัตรูกับพวกนาค โดยเหล่าครุฑจะโฉบลงมายังมหาสมุทรและโฉบนาคไปฉีกท้องจิกกินมันเปลวและทิ้ง ร่างไร้ชีวิตของนาคตกลงมหานที ข้างฝ่ายพวกนาคนั้นแม้จะพยายามต่อสู้แต่ก็ไม่อาจสู้ไหวจึงพากันเลื้อยหนีไป หลบภัยยังสะดือทะเล แต่ก็ถูกครุฑใช้ปีกโบกสะบัดจนน้ำลดแห้งและจับนาคไปฉีกท้องกิน เหล่านาคจึงพยายามกลืนหินใหญ่ลงท้องเพื่อถ่วงตัวให้หนัก ครุฑตนใดไม่รู้อุบายเวลาโฉบลงจับนาคก็ถูกหินที่นาคกลืนลงไปถ่วงน้ำหนักจนบิน ขึ้นไม่ไหวและจมน้ำตายส่วนครุฑที่รู้อุบายนี้ก็จะจับนาคทางหางและเขย่าจนนาค ต้องคายหินออกมา และนี่เองคือเรื่องราวความพยาบาทของพญาครุฑและพญานาค สองเผ่าพันธุ์สัตว์เทพเจ้าในตำนาน