พระกุมารกัสสปเถระ พระธรรมกถึกที่สามารถเทศนากลับใจคน
พระกุมารกัสสปเถระ เป็นพระเถระอีกรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงในการเทศนากลับใจคนที่มีมิจฉาทิฐิให้เข้าใจถูกต้อง ท่านรูปนี้มีชีวิตค่อนข้างพิสดารก่อนที่จะมาบวช ท่านเป็นบุตรนางภิกษุณี นางภิกษุณีผู้เป็นมารดาของท่านตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัวมาก่อนบวช บวชมาแล้ว เมื่อครรภ์โตขึ้นปรากฏต่อสายตาประชาชน พระเทวทัตผู้ดูแลภิกษุณีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีมารดาของท่านรวมอยู่ด้วย ได้ตัดสินใจให้ท่านลาสิกขาโดยไม่สอบถามรายละเอียด นางภิกษุณีเชื่อมั่นว่าตนบริสุทธิ์ จึงอุทธรณ์เรื่องต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้พระอุบาลีเป็นประธานพิจารณา ท่านพระอุบาลีจึงขอแรงนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐี ช่วยคลี่คลายคดี พระกุมารกัสสปเถระ นางวิสาชา จึงได้ตรวจสอบอย่างละเอียด และตรวจดูความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย มีมติว่านางตั้งครรภ์ก่อนบวช นำความกราบเรียนพระเถระ พระเถระอาศัยข้อมูลนั้นเป็นหลักฐานประกอบคำวินิจฉัย ตัดสินให้นางภิกษุณีบริสุทธิ์ เมื่อนางคลอดบุตรมาก็เลี้ยงดูในวัดนั้นเอง พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปพบเข้า จึงขอไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม กุมารน้อย จงมีชื่อว่า กุมารกัสสปะ (กัสสปะ ผู้เป็นพระกุมารในพระราชวัง) เมื่อเติบโตมารู้เบื้องหลังชีวิตของตนเอง จึงสลดใจไปบวชเป็นสามเณร ปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ข้างฝ่ายภิกษุณีมารดา มัวแต่คิดถึงลูก การปฏิบัติธรรมจึงมิได้ก้าวหน้าแม้แต่น้อย วันหนึ่งเห็นสามเณรบุตรชายขณะออกบิณฑบาต จึงรี่เข้าไปหา ร้องเรียกลูก สามเณรอรหันต์คิดว่า ถ้าพูดดีๆ กับแม่ แม่ก็จะไม่สามารถตัดความรักฉันแม่กับลูกได้ การปฏิบัติธรรมก็ไม่ก้าวหน้า จึงพูดอย่างเย็นชาว่า “อะไร จนป่านนี้แล้ว แค่ความรักระหว่างแม่กับลูกยังตัดไม่ได้ จะทำอะไรได้สำเร็จ” ว่าแล้วก็เดินจากไป ทิ้งให้ภิกษุณีผู้มารดาเป็นลมสลบ ณ ตรงนั้น ฟื้นขึ้นมาก็ “ตัดใจ” ว่า เมื่อลูกไม่รักเราแล้ว เราจะมัวคิดถึงเขาทำไม กลับสำนักภิกษุณีคร่ำเคร่งปฏิบัติภาวนา ไม่ช้าไม่นานก็บรรลุพระอรหัต เป็นอันว่าสามเณรหนุ่มได้ช่วยพามารดาของท่านลุถึงฝั่งแล้ว เมื่ออายุครบบวชก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ท่านได้ฟังพระโอวาทของพระพุทธองค์เรื่องปริศนาธรรม ๑๕ ข้อ (วันมิกสูตร) ได้บรรลุพระอรหัต เข้าใจว่าในช่วงท้ายๆ พุทธกาล เพราะคัมภีร์บันทึกว่า หลังพุทธปรินิพพานไม่นานนัก มีเจ้านครเสตัพยะ นามว่า ปายาสิ มีความเห็นผิดอันเป็นภัยร้ายกาจต่อพระศาสนาและระบบศีลธรรมจรรยา คือ เธอเชื่อว่า นรกสวรรค์ไม่มีจริง บุญบาปไม่มี ชาติก่อนชาติหน้าไม่มี ปายาสิเธอเป็นนักพูด มีวาทะคารมคมคาย จึงสามารถหักล้างสมณพราหมณ์ได้เป็นจำนวนมาก พระเถระอรหันต์หลายต่อหลายรูป ท่านก็หมดกิเลสเท่านั้น ไม่มีปฏิภาณปัญญาจะไปโต้ตอบกับเธอได้ จึงถอยห่างออกไป พระกุมารกัสสปะจึงไปโต้วาทะกับปายาสิราชันย์ ใช้เหตุใช้ผลอธิบายประกอบอุปมาอุปไมย ในประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ของปายาสิ ในที่สุดปายาสิยอมจำนน ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา (ดูรายละเอียดใน ปายาสิราชัญญสูตร – ที.ม. ๑๐/๑๐๓-๑๓๐) เจ้าปายาสิเชื่อว่านรกไม่มี สวรรค์ไม่มี โดยทดสอบจากชีวิตจริงของคน คือสั่งนักโทษประหาร (ที่แน่ใจว่าตายแล้วต้องตกนรกแน่ เพราะทำกรรมชั่วไว้มากมาย ดังสมณพราหมณ์ทั้งหลายกล่าวสอนกัน) ว่า ถ้าตายไปตกนรกจริงก็ให้กลับมาบอก นักโทษคนนั้นรับปากแล้วก็ไม่เห็นกลับมาบอก จากนั้นก็ทดลองเช่นเดียวกันกับอุบาสกผู้มีศีลธรรมว่า หลังจากไปเกิดในสวรรค์แล้วให้กลับมาบอก ก็ไม่กลับมาบอกเช่นเดียวกัน โดยวิธีนี้เจ้าปายาสิจึงสรุปว่า นรกไม่มี สวรรค์ก็ไม่มี พระเถระอธิบายโดยยกอุปมาอุปไมยว่า เพียงแค่นักโทษประหารจะขออนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อไปสั่งเสียลูกเมีย แล้วจะกลับมาให้ประหารทางการก็ไม่อนุญาต นักโทษประหารมีมีอิสระเสรีภาพจะไปไหนได้ตามชอบใจ สัตว์นรกยิ่งกว่านั้น หาโอกาสจะไปไหนไม่ได้ ถึงเขาไม่ลืมคำมั่นสัญญา เขาก็ไม่สามารถกลับมาบอกได้ฉันใด ฉันนั้น ครั้นถูกแย้งว่า สัตว์นรกไม่มีอิสระก็พอฟังขึ้น แต่คนที่ตายไปเกิดบนสวรรค์มีอิสรเสรีเต็มที่ แต่ทำไมยังไม่มาบอก เหตุผลที่พระเถระยกมากล่าวในข้อนี้ คือ กำหนดระยะเวลาบนสรวงสวรรค์นั้นช้ากว่าในโลกมนุษย์ (ว่ากันถึงขนาดว่า วันหนึ่งคืนหนึ่งของเทวดาเท่ากับหนึ่งร้อยปีของโลกมนุษย์) ถึงแม้เขาไม่ลืมคำมั่นสัญญา เพียงคิดว่า รอสักครู่ค่อยกลับไปบอก “สักครู่” ของเทวดา ก็เป็นสิบเป็นร้อยปี พระกุมารกัสสปะตอบคำถาม หักล้างความคิดเป็นของเจ้าปายาสิ ท่านใช้หลายวิธี เช่น อธิบายตรงๆ ยกอุปมาอุปไมย หรือใช้วิธีอนุมาน จึงสามารถทำให้นักปราชญ์อย่างเจ้าปายาสิยอมรับและถวายตนเป็นอุบาสกอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาในเวลาต่อไป นัยว่าท่านพระกุมารกัสสปะ ได้ทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างมหาศาล ท่านดำรงชีวิตจนถึงอายุขัยแล้วนิพพาน