นิพพาน บทสรุปของชีวิตในสังสารวัฏ ตอนที่ 4
นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่มีสุขอื่นที่ยิ่งกว่า คุณลักษณะที่น่าปรารถนาของนิพพาน คุณลักษณะพระนิพพาน มีกล่าวไว้จำนวนมากในพระไตรปิฎก แต่ในที่นี้จะนำมากล่าวเฉพาะคุณลักษณะที่น่าปรารถนา อันมีอยู่ในพระนิพพาน ซึ่งพอจะเทียบเคียงกับความรู้สึกของคนโดยทั่วไปให้เข้าใจได้ 1. นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่มีสุขอื่นที่ยิ่งกว่า (นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ, นิพฺพาน สุขา ปรํ นตฺถิ) ความสุขเป็นสิ่งที่สรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่าล้วนปรารถนากันทั้งสิ้น ที่ต้องดิ้นรน กระเสือกกระสน กระวนกระวายกันอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อต้องการหาความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสุขที่ไม่กลับกลายเป็นทุกข์อีก แต่ก็ยังแสวงหากันไม่พบ ส่วนมากความสุขที่พบและคิดว่าเป็นสุขสุดยอดแล้ว แต่ก็กลับมีทุกข์เป็นผลตามมาจนได้ เนื่องด้วยว่าความสุขอย่างอื่นเป็นสุขอันเกิดจากเจตสิก คือ สุขเวทนาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่ปรุงแต่งจิตให้มีความสุข เพราะเสวยอารมณ์ที่ชอบใจอันเป็นโลกิยธรรม คือ กามสุขฝ่ายอกุศล-กุศล หรือฌานสุข อันเกิดจากสมาธิขั้นสูง ความสุขเหล่านี้เกิดจากตัณหา 3 คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อันเป็นตัวสมุทัย คือ ตัวเหตุแห่งทุกข์เจือปนอยู่ สิ่งใดเกิดแต่ตัณหามีตัณหาเจือปนอยู่ สิ่งนั้นย่อมนำผู้นั้นวนกลับสู่กองทุกข์อีก เพราะมีกำหนดเวลาของการเสวยสุข ฉะนั้นจึงยังเป็นสุขที่ไม่แท้จริง ส่วนนิพพานสุข เป็นสุขที่ไม่มีเวทนา ไม่มีตัณหาเจือปนปรุงแต่ง (อสังขตธรรม) สิ่งใดที่ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมเที่ยง ยั่งยืน เป็นอมตะ ดังนั้นสุขในนิพพานจึงเป็นสุขอย่างยิ่ง การจะหาความสุขจากการสัมผัสพระนิพพานในปัจจุบันชาตินี้ แม้เป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่าจะยาก แต่เราก็ไม่ควรจะละเลิกใฝ่หา เพราะตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นผู้มีอุปกรณ์ คือ กายกับจิตที่พร้อมจะสัมผัสนิพพานสุขในปัจจุบันชาติได้ ถ้าปฏิบัติได้ถูกวิธี แม้บุญบารมียังมิเต็มเปี่ยมที่จะบรรลุนิพพานสุขแท้จริงในชาตินี้ได้ แต่ขณะปฏิบัติจะได้รับความสุขที่พอให้เทียบเคียงกันได้กับความสุขในพระ นิพพานเป็นลำดับไป นั่นคือ การทำใจให้หยุดนิ่ง จนบรรลุสมาธิระดับฌานต่างๆ ตั้งแต่ปฐมฌาน จนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ (ปฐมฌานจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเป็นนิพพานโดยอ้อมหรือโดยเทียบเคียง แต่สัญญาเวทยิตนิโรธ จัดเป็นนิพพานโดยตรง เพราะเป็นความสุขแท้จริงเช่นเดียวกับในอายตนนิพพาน ที่สัมผัสได้ในปัจจุบันชาติ (อํ.อฏฐก. 23/251-255) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกความสุขในระดับฌานสุขว่า ทิฏฐธรรมนิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกความสุขในระดับฌานสุขว่า ทิฏฐธรรมนิพพาน นิพพานเข้าถึงได้ในอัตภาพปัจจุบันนี้บ้าง สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานที่ผู้บรรลุพึงเห็นเองบ้าง อมตธรรมบ้าง นิโรธบ้าง เป็นต้น ในภาคปฏิบัติ พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) ได้กล่าวไว้ว่า “ ฌานนั้นแจ่มใสอยู่เสมอ ไม่ให้เสื่อม ไม่ให้สร่าง ไม่ให้หายไป อยู่ฌานนั้นร่ำไปเรียกว่าได้รับความสุข ในปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน สุขเยี่ยมยอดประเสริฐเลิศกว่าในโลกนี้นัก เมื่อเข้าถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน แล้วก็ลืมยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทีเดียว สิ่งอื่นไม่เหลือใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เอาใจรูปพรหมไปนั่งอยู่บนปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานลืมยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่มาเคาะใจทั้งหลับทั้งตื่น สูงขึ้นไป สุขสูงขึ้นไปกว่านี้ เข้าถึงอรูปฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญานัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เมื่อไปถึงอรูปฌานเช่นนั้นละก็ ความยินดีในรูปฌานนั้น ติดอยู่ในรูปฌานนั้นหายไป หลุดไม่ติดเลย ก็ไปติดอยู่ในอากาสานัญจายตนฌาน วิญญานัญจายตนฌาน อากิญจัญญาย ตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ได้รับความสุขอยู่ 840,000 มหากัลป์ เนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ขอบภพข้างบนนี่ สุขเลิศประเสริฐนัก ยอดสุขของในภพมีเท่านี้แหละ สูงกว่าไม่มี ยอดแล้วถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ยอดสุขในภพแล้ว ไม่มีสุขยิ่งกว่านี้ขึ้นไป ถ้าจะให้สุขยิ่งกว่านี้ขึ้นไป ต้องไปสู่ มรรค ผล นิพพาน พวกมีธรรมกายไปสู่นิพพานได้ ก็ได้ไปสอบสวนสุขในนิพพานได้ เข้าไปในนิพพานได้ เป็นนิ่งอยู่ในนิพพานเสียนี่ รับสุขในนิพพาน ทีเดียว เมื่อได้รับสุขชนิดนี้ในนิพพานแล้ว คนที่พูดมากๆ เงียบหมด ไม่พูดแล้ว ใจคอครึ้ม …..อ่านต่อ