ประเทศอินเดียอันเป็นแหล่งกำเนิดของพุทธศาสนา พุทธศาสนาได้ผ่านระยะแห่งความ เจริญรุ่งเรืองมา 3 ระยะด้วยกัน คือ 1. ระยะความรุ่งเรืองของพุทธศาสนานานานิกายในสาวกยาน ในช่วง 5 ศตวรรษหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน 2. ระยะความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาฝ่ายลัทธิมหายาน 3. ระยะความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาฝ่ายลัทธิตันตระยาน ส่วนในจีนนั้นพุทธศาสนาหาได้มีวิวัฒนาการตามขั้นตอนพุทธศาสนาในอินเดียไม่ ในจีนพุทธศาสนาแพร่ขยายออกไปพร้อม ๆ กับการแปลพระคัมภีร์ต่าง ๆ สู่ภาคภาษาจีนในช่วงที่พุทธศาสนาเริ่มแพร่เข้าสู่จีนนั้น เป็นช่วงที่พุทธศาสนามหายานกำลังเจิรญ รุ่งเรืองอยู่ในอินเดีย ดังนั้น พุทธศาสนาที่แพร่เข้าสู่จีนนั้น จึงเข้ามาพร้อม ๆ กันทั้งมหายานและหินยาน แต่ที่มีอิทธิพลต่อชาวจีนคือลัทธิมหายาน ดังจะเห็นได้จากตัวเลขที่ว่า ตั้งแต่ปลายราชวงศ์ฮั่น จนถึงราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) ซึ่งนับได้เป็นเวลาพันห้าร้อยปี ได้มีการถ่ายทอดพระคัมภีร์ต่าง ๆ สู่ภาคภาษาจีนถึง 6,000 กว่าหมวด คัมภีร์เหล่านี้เป็นคัมภีร์มหายานเกือบทั้งหมด มีข้อที่น่าสังเกตข้อหนึ่ง คือ คัมภีร์ต่าง ๆ ที่มหายานในอินเดียยกย่องว่าสำคัญยิ่งยวด เช่น คัมภีร์มหาปรัชญาปารมิตาสูตร คัมภีร์มาธยมิกศาสตร์ของนิกายศูนยวาทิน กับคัมภีร์สันธินิรโมจนสูตร และคัมภีร์โยคาจารภูมิศาสตร์ของนิกายวิชญาณวาทินนั้น กลับไม่ได้รับความสนใจนักในจีน นิกายตันตระซึ่งพระวัชรโพธิและพระอโมฆวัชรนำเข้าสู่จีนในปี ค.ศ. 716 นั้น ก็ไม่ได้มีวิวัฒนาการเท่าที่ควร ตรงกันข้าม พระสูตรต่าง ๆ ที่ถือกันว่าไม่ค่อยสำคัญในอินเดีย เช่น มหาปรินนิรวาณสูตร วิมลเกียรตินิเทศสูตร สัทธรรมปุณฑริกสูตร พุทธาวตังสกมหาไวปุลยสูตร ลังกาวตารสูตร อมิตาภะสูตร (จุลสุขาวตีวยูหสูตร) กลับได้รับยกย่องบูชาอย่างสูงและเป็นที่เชื่อถือเลื่อมไสในหมู่พุทธศาสนิกชนในจีน ด้วยเหตุนี้ นิกายสัทธรรมปุณฑริก (เทียนไทจง) นิกายอวตังสก (หัวเอี้ยนจง) นิกายสุขาวดี (จิ้งถู่จง) และนิกายฌาณหรือเซ็น (ฉันจง) ซึ่งนับถือบูชาพระสูตรใดพระสูตรหนึ่งที่กล่าวมานี้ จึงมีวิวัฒนาการรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วและกลายเป็นนิกายที่สำคัญที่มีผู้นับถือศรัทธายิ่งกว่านิกาย อื่น ๆ ซึ่งมีอยู่มากนิกายด้วยกันในจีน ดังนั้นพุทธศาสนาในจีน ถึงแม้ว่าจะเป็นศาสนาที่แพร่เข้าไปจากอินเดีย แต่อรรถสาระและภาพพจน์ก็มีลักษณะแตกต่างไป จากพุทธศาสนาในอินเดียมาก งานเขียนชิ้นนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอลักษณะพิเศษของพุทธศาสนาในจีนว่ามีอะไรบ้าง และอะไรเป็น รากฐานที่ก่อให้เกิดลักษณะพิเศษเหล่านี้ขึ้น ลักษณะพิเศษ 3 ประการของพุทธศาสนาในจีน ลักษณะพิเศ���ของพุทธศาสนาในจีน แบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะดังนี้ 1.ลักษณะประนีประนอมกับลัทธิ – ศาสนาอื่น 2.ลักษณะปรองดองระหว่างพุทธนิกายด้วยกัน 3.ลักษณะความเรียบง่าย ลักษณะประนีประนอมกับลัทธิ – ศาสนาอื่น ในประเทศจีน ถ้าจะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาพุทธ กับลัทธิขงจื้อและศาสนาเต๋าแล้ว จะเห็นได้ว่าพุทธเป็นศาสนาที่มีลักษณะประนีประนอมกว่าอีก สองศาสนาของจีนเอง วิวัฒนาการเป็นพัน ๆ ปีของพุทธศาสนาในจีน ทำให้สามารถมองเห็นลักษณะนี้ของพุทธได้อย่างชัดเจน พุทธศาสนาเมื่อแรกแพร่เข้าสู่จีนนั้น ต้องประสบอุปสรรครอบด้าน ต้องปะทะขับเคี่ยวและต่อสู้กับอารยธรรมดั้งเดิมของจีน กับอำนาจอันล้นฟ้าของจักรพรรดิ กับทฤษฎีและหลักปรัชญาของขงจื้อและศาสนาเต๋าตลอดมา แต่ถ้ามองโดยลักษณะรวมแล้ว จะเห็นว่า ชาวพุทธในจีนจะใช้วิธีประนีประนอมกับฝ่ายตรงข้าม แล้วค่อย ๆ แทรกตัวเองเข้าเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งของจีน มากกว่าที่จะปะทะกันถึงในขั้นแตกหัก ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบสองพันปีที่ผ่านมา นอกจากในสมัยราชวงศ์สุยและถัง (ค.ศ. 581–907) ซึ่งเป็นสมัยที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสูงสุด มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว ในรัชสมัยอื่น ๆ พุทธศาสนาจะอยู่ในฐานะเป็นเพียงส่วนประกอบส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนเท่านั้น ความหมายของคำว่าประนีประนอมในที่นี้ หมายถึงการยอมรับ การยินยอมคล้อยตามแนวคิดและทัศนคติจากภายนอก ซึ่งก็คือหลักทฤษฎีของขงจื้อและเต๋านั่นเอง พุทธศาสนาทำการประนีประนอมกับแนวคิดภายนอก ได้ดำเนินคู่ขนานไปกับการเปลี่ยนแปลง ของกระแสแนวคิดของสังคมแต่ละสมัย ดังนั้นจึงมีลักษณะของยุคสมัยอย่างเด่นชัด ดังเช่น ในสมัยฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25–220) ถึงสมัยสามก๊ก (ค.ศ.220–280) เป็นช่วงที่ไสยศาสตร์ของเต๋าเจริญรุ่งเรืองมาก ชาวพุทธในจีนรวมทั้งพระอาจารย์ที่เดินทางเข้า ไปจากเมืองพุทธอื่น ๆ ได้พยายามศึกษาไสยศาสตร์ในยุคนั้นไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการดึงดูดใจผู้คนให้เกิดความสนใจในพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาใหม่ที่เพิ่งเผยแพร่เข้าไป พอเข้าสู้ยุคราชวงศ์จิ้น (ค.ศ.256–420) กับราชวงศ์หนานเป่ยเฉา (ค.ศ.420–589) ปรัชญาเสียนเซียะได้เข้าแทนที่ไสยศาสตร์เต๋า ชาวพุทธในจีนก็พยายามปรับปรุงตนให้สอดคล้องกับปรัชญาของเสียเซียะด้วยการนำเอาแนวคิด คำศัพท์ต่าง ๆ ของเสียเซียะมาอรรถาธิบายหลักปรัชญาปารมิตาสูตร การนำเอาหลักทฤษฎีความคิดของเต๋าและขงจื้อมาอรรถาธิบายหลักทฤษฎีและปรัชญาของพุทธนั้น มีให้เห็นอยู่ทั่วไป เช่น การเอาหลัก “อู๋อุ๋ย” ซึ่งมีความหมายว่าการคล้อยตามความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติมาอธิบายหลักนิพพานของพุทธ ซึ่งในทางเป็นจริงแล้ว ปรัชญาทั้งสองข้อนี้แตกต่างกันมาก แต่ชาวพุทธในจีนในสมัยนั้นก็พยายามที่จะอรรถาธิบายปรัชญาพุทธด้วยวิธีนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ตนเอง ปักหลักลงได้บนแผ่นดินใหม่ผืนนีให้ได้ นักพุทธศาสตร์สมัยนั้น เวลาถ่ายทอดหรือเรียบเรียงพุทธคัมภีร์ออกสู่ภาคภาษาจีน ก็จะพยายามปรับให้ไม่ขัดต่อหลักของ ขงจื้อ ตัวอย่างเช่นในสิคาโลวาทสูตร ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก พี่กับน้อง ครูกับศิษย์ สามีกับภรรยา นายกับบ่าวว่า ทั้งสองฝ่ายมีความเสมอภาคกัน เช่นนายกับบ่าว นายต้องให้ความนับถือบ่าว บ่าวต้องจงรักภักดีต่อนาย เป็นต้น แต่เมื่อพระอาจารย์อันลิเกาพระภิกษุชาวปาเธียร์แปลมาถึงข้อความตอนนี้ ก็ได้ตัดเนื้อหานี้ออก ทั้งนี้เพราะทัศนคติที่ว่านี้ขัดต่อความรับรู้ในความสัมพันธ์เหล่านี้ว่า ต้องมีลดหลั่นต่ำสูงตาม ประเพณีจีน นอกจากดำเนินนโยบายประนีประนอมดังได้กล่าวมาแล้ว ชาวพุทธในจีนก็ยังได้สร้าง หลักปรัชญาขึ้นใหม่ตามระบบความคิดดั้งเดิมของจีนเองอีกด้วย เช่น …..อ่านต่อ