ปัจเจกพุทธาปทาน
…ในตอนนี้ขอนำหลักฐานจาก “พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒” มาอ้างอิงไว้ โดยปรากฏอยู่ใน “อปทาน” หมายความว่าเป็น “คำกล่าวจากตัวท่านเอง” คือในขณะที่กระทำสังคยานา พระมหากัสสปเถระถามพระอานนท์ว่า พระพุทธเจ้าเคยตรัสเรื่อง “พระปัจเจกพุทธเจ้า” ไว้ที่ไหนบ้าง ท่านถามในขณะที่ทำสังคายนา “พุทธาปทาน” คือเรื่องของพระพุทธเจ้าผ่านไปแล้ว คำว่า “พระพุทธเจ้า”ในที่นี้ จึงมีอยู่ ๒ ประเภท ดังนี้ – พุทธาปทานที่ ๑. ว่าด้วยเหตุให้สำเร็จเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า – ปัจเจกพุทธาปทานที่ ๒ ว่าด้วยการให้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า “…พระอานนท์เถระเมื่อจะสังคายนา “อปทาน” ต่อจาก “พุทธาปทาน” นั้นต่อไป อันท่านพระมหากัสสปเถระถามว่า นี่แน่ะ..ท่านอาวุโสอานนท์ “ปัจเจกพุทธาปทาน” พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ ณ ที่ไหน จึงกล่าวว่า ลำดับนี้ ขอท่านทั้งหลายจงฟัง “ปัจเจกพุทธาปทาน” ดังนี้. อานนท์นี้..เป็นเลิศแห่งภิกษุสาวกของเรา ผู้มีสติ มีธิติ มีคติ เป็นพหูสูต เป็นผู้อุปัฏฐาก ดังนี้ น้อมองค์ลง (น้อมองค์คือกาย) กระทำอัญชลี ได้กราบทูลถามว่า “…ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชื่อว่าพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นเช่นไร พระเจ้าข้า ? พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น ย่อมมี..คือย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุอะไร คือการณ์อะไร. ?” “…ดูก่อนอานนท์ผู้เจริญ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเหล่าใด กระทำบุญญาธิการไว้ คือกระทำบุญสมภารไว้ในพระพุทธเจ้าปางก่อนทั้งหลาย คือในอดีตพุทธเจ้าทั้งหลายปางก่อน ยังไม่ได้ความหลุดพ้นในศาสนาของพระชินเจ้า คือยังไม่บรรลุพระนิพพาน พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นทั้งหมดเป็นนักปราชญ์ กระทำบุคคลผู้หนึ่งให้เป็นประธานโดยมุขคือความสังเวช จึงได้เป็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าในโลกนี้. ผู้มีปัญญากล้าแข็งดี คือมีปัญญากล้าแข็งด้วยดี. แม้เว้นจากพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือแม้เว้นจากโอวาทานุสาสนีของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมบรรลุคือย่อมรู้แจ้งปัจเจกสัมโพธิ คือโพธิเฉพาะผู้เดียว ได้แก่โพธิอันต่อเนื่อง (รอง) จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ด้วยอารมณ์แม้นิดหน่อย คือแม้มีประมาณน้อย. ในโลกทั้งปวงคือในไตรโลกทั้งสิ้น เว้นเรา (คือพระพุทธเจ้า) คือละเว้นเราเสีย บุคคลผู้เสมอคือแม้นเหมือนพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มี. เราจักกล่าว อธิบายว่า จักบอกคุณนี้ของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้มหามุนีเหล่านั้น เพียงบางส่วนคือเพียงสังเขป ให้สำเร็จประโยชน์ คือให้ดีแก่ท่านทั้งหลาย. ท่านทั้งปวงผู้ปรารถนา คืออยากได้พระนิพพาน คือเภสัช ได้แก่โอสถอันยอดเยี่ยม คือเว้นสิ่งที่ยิ่งกว่า มีจิตผ่องใส คือมีใจใสสะอาด…” ดังนี้