พระแม่ธรณี หรือพระศรีวสุนธรา เป็นเทพแห่งพื้นแผ่นดินที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี ปรากฏในตำนานทั้งศาสนาพราหมณ์, ฮินดู และพุทธศาสนา โดยให้ความเคารพนับถือว่า “แผ่นดิน” เป็นจุดก่อเกิดสรรพสิ่งทั้งปวงในโลก เปรียบเสมือน “มารดา” ผู้หล่อเลี้ยงโลก จึงได้รับยกย่องว่าเป็น “เทพีผู้ค้ำจุนโลก”
ความสำคัญใน “การบูชาพระแม่ธรณี”
ก่อนที่จะทำอะไรก็ให้บูชาบอกกล่าวต่อพระแม่ธรณีก่อน เพราะทุกอย่างในโลกล้วนกำเนิดขึ้นบนดิน ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่างๆ เพราะจะมีการกระทบกระเทือนพื้นดิน ตั้งแต่เริ่มตอกเสาเข็มหรือขึ้นเสาเอก เป็นต้น บรรดาเกษตรกรเองก่อนจะเพาะปลูกอะไรก็มักจะทำพิธีบอกกล่าวแก่พระแม่ธรณี เพื่อขอขมาที่ทำการกระทบพื้นดิน และขอพรให้ประสบความสำเร็จ พืชผลเจริญงอกงาม
ในการทำพิธีต่างๆ ทางพราหมณ์
ทั้งการขึ้นศาลเจ้าที่ ศาลพระภูมิ ขึ้นบ้านใหม่ หรือแม้แต่การขึ้นเสาเอกหรือวางศิลาฤกษ์ ก็ต้องทำพิธีบอกกล่าวขออนุญาตจากพระแม่ธรณี เพื่อให้เปิดทางให้เจ้าที่เจ้าทาง เทพเทวาอารักษ์ทั้งหลายเข้ามาในพิธีได้ ไม่เช่นนั้นพิธีดังกล่าวก็ไม่อาจสำเร็จลุล่วงตามที่ปรารถนา โดยจะเห็นได้ว่าก่อนจะถึงเวลามงคลฤกษ์ทุกครั้ง พราหมณ์ผู้ทำพิธีจะจุดธูปแล้วเดินไปที่มุมใดมุมหนึ่ง เพื่อสวดอธิษฐานที่พื้นดินก่อน
พระแม่ธรณียังปรากฏความสำคัญในพุทธประวัติ
กล่าวคือ ในคืนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พญามารวัสดีและกองทัพมารเข้ารบกวนโดยอ้างเอาบัลลังก์เป็นของตน พระพุทธองค์ทรงเปล่งวาจาอ้างเอา “ธรณี” เป็นพยาน จากนั้นมีเสียงดังกัมปนาท แผ่นดินสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น พระแม่ธรณีต้องปรากฏกายเป็นพยานเอก แสดงการบิดน้ำจากมวยผมเพื่อแสดงให้เห็นถึงกุศลที่พระพุทธองค์กระทำมาตั้งแต่อดีตชาติ จนน้ำที่กรวดลงบนพื้นแล้วแม่ธรณีรับไว้นั้นมากถึงขั้นเป็นมหาสมุทร พัดเอาเหล่าพญามารกระจัดกระจายหายไป ต้นเหตุนี้ทำให้เกิดพระพุทธรูปในปางมารวิชัยขึ้นในกาลต่อมา
ขณะเดียวกัน ชื่อ “แม่พระธรณี” ยังปรากฏในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง อาทิ หนังสือเทศน์มหาชาติปฐมสมโพธิกถา ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น นางพระธรณี พระแม่สุนธราพสุธา ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน คือ ผู้ทรงไว้ซึ่งทรัพย์สมบัติ อันหมายถึงแผ่นดินนั่นเอง
รูปลักษณะที่เป็นจิตรกรรม
ของแม่พระธรณีนั้นเป็นเทวดาผู้หญิง ที่มีสรีระรูปร่างใหญ่ หากแต่อ่อนช้อย งดงาม พระฉวีสีดำ พระพักตร์รูปไข่ มวยพระเกศายาวสลวย สีเขียวชอุ่มเหมือนกลุ่มเมฆ พระเนตรสีเหมือนดอกบัวสาย คือสีน้ำเงิน พระชงฆ์เรียว พระพาหาดุจงวงไอยรา นิ้วพระหัตถ์เรียวเหมือนลำเทียน มีพระทัยเยือกเย็น ไม่หวั่นไหว พระพักตร์ยิ้มละไมอยู่เสมอ ภาพเขียนรูปพระแม่ธรณีที่ถือกันว่างดงามเป็นพิเศษ คือ ภาพที่ฝาผนังด้านหน้าพระประธานในพระอุโบสถ วัดชมภูเวก อ.เมือง จ.นนทบุรี
สำหรับรูปลักษณะทางประติมากรรมนั้น
แม่พระธรณีในศิลปะไทยที่มีปรากฏอยู่จะทำเป็นรูปหญิงสาว มีรูปร่างอวบใหญ่ ล่ำสันอย่างได้สัดส่วน มีความงามประดุจเทพธิดา นั่งในท่าคุกเข่า แต่ยกเข่าขวาขึ้นสูงกว่าเข่าซ้าย บางแห่งสร้างให้อยู่ในท่ายืน แต่ที่เหมือนกันก็คือ มวยผมปล่อยยาว มือขวายกข้ามศีรษะไปจับไว้ที่โคนมวยผม ส่วนมือซ้ายจับมวยผม แสดงท่ากำลังบิดให้สายน้ำไหลออกมาจากมวยผม
การสร้างรูปเคารพของพระแม่ธรณีเท่าที่สามารถสอบทานได้ของไทยเรา พบตำราเก่าแก่สมัยอยุธยา บันทึกเรื่องราวการจัดสร้างนางเทพเทวาที่เป็นรูปแบบ “แม่ธรณี” ขึ้นบูชา เพื่อการอำนวยผลทางความมั่นคงและป้องกันสิ่งเลวร้าย
ตำรานี้บอกเล่าต่อกันมาว่า ยังเก็บรักษาอยู่ที่วัดคฤหบดี กรุงเทพฯ ครับผม
วิธีไหว้พระแม่ธรณี
– มะพร้าวอ่อน ( เปิดฝา ) 1 ลูก
– พุทรา สด 9 ลูก ( พุทราไทย หรือ จีน ก็ได้ )
– ส้ม 4 ผล
– สับปะรด 1 ลูก
– กล้วยน้ำว้า 1 หวี
– น้ำมันพืช 1 ขวด
– พวงมาลัยมะลิ 1 พวง
– ธูป 21 ดอก
– เทียน 1 เล่ม
คาถาไหว้พระแม่ธรณี ( ตั้งนะโม 3 จบ )
ตัสสา เกสีสะโต ยะถาคังคา โสตัง ปะวัตตันติ มาเรเสนา อะสักโกนโต
ปะลายิงสู ปะระมิตานุภาเวนะ มาระเสนา ปะราชิตา ทิโส ทิสัง ปะลายันติ
วิทังเสนติ อะเสสะโต
จุดธูปเทียนเรียบร้อย ตั้งนะโม 3 จบ สวดคาถาบูชาพระแม่ธรณี 1 จบ ให้พูดว่า ข้าพเจ้าชื่อ …..นามสกุล ……….. ขอกราบบูชาพระแม่ธรณีที่สถิตอยู่ ณ ที่นี้ ….. ขอบารมีพระแม่ธรณี ช่วยขจัดปัดเป่าความทุกข์โศกโรคภัย อุปสรรคทั้งหลาย ออกไปให้หมด ขอความสำเร็จ ทางด้านการงาน ด้านการเงิน คิดหวังสิ่งใด ขอให้สมความปรารถนาทุกประการเทอญ
ปักธูปเทียน เรียบร้อย หยอดน้ำมันตะเกียง จากนั้นหาขวดเปล่ารองน้ำมนต์ จากมวยผมพระแม่ธรณีมาผสมน้ำอาบที่บ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล