พระแม่ธรณี เทพีผู้ค้ำจุนโลก

พระแม่ธรณี หรือพระศรีวสุนธรา เป็นเทพแห่งพื้นแผ่นดินที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี ปรากฏในตำนานทั้งศาสนาพราหมณ์, ฮินดู และพุทธศาสนา โดยให้ความเคารพนับถือว่า “แผ่นดิน” เป็นจุดก่อเกิดสรรพสิ่งทั้งปวงในโลก เปรียบเสมือน “มารดา” ผู้หล่อเลี้ยงโลก จึงได้รับยกย่องว่าเป็น “เทพีผู้ค้ำจุนโลก”

พระแม่ธรณี

ความสำคัญใน “การบูชาพระแม่ธรณี”

ก่อนที่จะทำอะไรก็ให้บูชาบอกกล่าวต่อพระแม่ธรณีก่อน เพราะทุกอย่างในโลกล้วนกำเนิดขึ้นบนดิน ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่างๆ เพราะจะมีการกระทบกระเทือนพื้นดิน ตั้งแต่เริ่มตอกเสาเข็มหรือขึ้นเสาเอก เป็นต้น บรรดาเกษตรกรเองก่อนจะเพาะปลูกอะไรก็มักจะทำพิธีบอกกล่าวแก่พระแม่ธรณี เพื่อขอขมาที่ทำการกระทบพื้นดิน และขอพรให้ประสบความสำเร็จ พืชผลเจริญงอกงาม

ในการทำพิธีต่างๆ ทางพราหมณ์

ทั้งการขึ้นศาลเจ้าที่ ศาลพระภูมิ ขึ้นบ้านใหม่ หรือแม้แต่การขึ้นเสาเอกหรือวางศิลาฤกษ์ ก็ต้องทำพิธีบอกกล่าวขออนุญาตจากพระแม่ธรณี เพื่อให้เปิดทางให้เจ้าที่เจ้าทาง เทพเทวาอารักษ์ทั้งหลายเข้ามาในพิธีได้ ไม่เช่นนั้นพิธีดังกล่าวก็ไม่อาจสำเร็จลุล่วงตามที่ปรารถนา โดยจะเห็นได้ว่าก่อนจะถึงเวลามงคลฤกษ์ทุกครั้ง พราหมณ์ผู้ทำพิธีจะจุดธูปแล้วเดินไปที่มุมใดมุมหนึ่ง เพื่อสวดอธิษฐานที่พื้นดินก่อน

พระแม่ธรณียังปรากฏความสำคัญในพุทธประวัติ

กล่าวคือ ในคืนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พญามารวัสดีและกองทัพมารเข้ารบกวนโดยอ้างเอาบัลลังก์เป็นของตน พระพุทธองค์ทรงเปล่งวาจาอ้างเอา “ธรณี” เป็นพยาน จากนั้นมีเสียงดังกัมปนาท แผ่นดินสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น พระแม่ธรณีต้องปรากฏกายเป็นพยานเอก แสดงการบิดน้ำจากมวยผมเพื่อแสดงให้เห็นถึงกุศลที่พระพุทธองค์กระทำมาตั้งแต่อดีตชาติ จนน้ำที่กรวดลงบนพื้นแล้วแม่ธรณีรับไว้นั้นมากถึงขั้นเป็นมหาสมุทร พัดเอาเหล่าพญามารกระจัดกระจายหายไป ต้นเหตุนี้ทำให้เกิดพระพุทธรูปในปางมารวิชัยขึ้นในกาลต่อมา

พระแม่ธรณี-บทสวดพาหุงมหากา

ขณะเดียวกัน ชื่อ “แม่พระธรณี” ยังปรากฏในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง อาทิ หนังสือเทศน์มหาชาติปฐมสมโพธิกถา ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น นางพระธรณี พระแม่สุนธราพสุธา ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน คือ ผู้ทรงไว้ซึ่งทรัพย์สมบัติ อันหมายถึงแผ่นดินนั่นเอง

รูปลักษณะที่เป็นจิตรกรรม

พระแม่ธรณี-จิตรกรรม

ของแม่พระธรณีนั้นเป็นเทวดาผู้หญิง ที่มีสรีระรูปร่างใหญ่ หากแต่อ่อนช้อย งดงาม พระฉวีสีดำ พระพักตร์รูปไข่ มวยพระเกศายาวสลวย สีเขียวชอุ่มเหมือนกลุ่มเมฆ พระเนตรสีเหมือนดอกบัวสาย คือสีน้ำเงิน พระชงฆ์เรียว พระพาหาดุจงวงไอยรา นิ้วพระหัตถ์เรียวเหมือนลำเทียน มีพระทัยเยือกเย็น ไม่หวั่นไหว พระพักตร์ยิ้มละไมอยู่เสมอ ภาพเขียนรูปพระแม่ธรณีที่ถือกันว่างดงามเป็นพิเศษ คือ ภาพที่ฝาผนังด้านหน้าพระประธานในพระอุโบสถ วัดชมภูเวก อ.เมือง จ.นนทบุรี

สำหรับรูปลักษณะทางประติมากรรมนั้น

แม่พระธรณีในศิลปะไทยที่มีปรากฏอยู่จะทำเป็นรูปหญิงสาว มีรูปร่างอวบใหญ่ ล่ำสันอย่างได้สัดส่วน มีความงามประดุจเทพธิดา นั่งในท่าคุกเข่า แต่ยกเข่าขวาขึ้นสูงกว่าเข่าซ้าย บางแห่งสร้างให้อยู่ในท่ายืน แต่ที่เหมือนกันก็คือ มวยผมปล่อยยาว มือขวายกข้ามศีรษะไปจับไว้ที่โคนมวยผม ส่วนมือซ้ายจับมวยผม แสดงท่ากำลังบิดให้สายน้ำไหลออกมาจากมวยผม

พระแม่ธรณี

การสร้างรูปเคารพของพระแม่ธรณีเท่าที่สามารถสอบทานได้ของไทยเรา พบตำราเก่าแก่สมัยอยุธยา บันทึกเรื่องราวการจัดสร้างนางเทพเทวาที่เป็นรูปแบบ “แม่ธรณี” ขึ้นบูชา เพื่อการอำนวยผลทางความมั่นคงและป้องกันสิ่งเลวร้าย

ตำรานี้บอกเล่าต่อกันมาว่า ยังเก็บรักษาอยู่ที่วัดคฤหบดี กรุงเทพฯ ครับผม

วิธีไหว้พระแม่ธรณี

เครื่องไหว้พระแม่ธรณี

– มะพร้าวอ่อน ( เปิดฝา ) 1 ลูก
– พุทรา สด 9 ลูก ( พุทราไทย หรือ จีน ก็ได้ )
– ส้ม 4 ผล
– สับปะรด 1 ลูก
– กล้วยน้ำว้า 1 หวี
– น้ำมันพืช 1 ขวด
– พวงมาลัยมะลิ 1 พวง
– ธูป 21 ดอก
– เทียน 1 เล่ม

คาถาไหว้พระแม่ธรณี ( ตั้งนะโม 3 จบ )

ตัสสา เกสีสะโต ยะถาคังคา โสตัง ปะวัตตันติ มาเรเสนา อะสักโกนโต
ปะลายิงสู ปะระมิตานุภาเวนะ มาระเสนา ปะราชิตา ทิโส ทิสัง ปะลายันติ
วิทังเสนติ อะเสสะโต

จุดธูปเทียนเรียบร้อย ตั้งนะโม 3 จบ สวดคาถาบูชาพระแม่ธรณี 1 จบ ให้พูดว่า ข้าพเจ้าชื่อ …..นามสกุล ……….. ขอกราบบูชาพระแม่ธรณีที่สถิตอยู่ ณ ที่นี้ ….. ขอบารมีพระแม่ธรณี ช่วยขจัดปัดเป่าความทุกข์โศกโรคภัย อุปสรรคทั้งหลาย ออกไปให้หมด ขอความสำเร็จ ทางด้านการงาน ด้านการเงิน คิดหวังสิ่งใด ขอให้สมความปรารถนาทุกประการเทอญ

ปักธูปเทียน เรียบร้อย หยอดน้ำมันตะเกียง จากนั้นหาขวดเปล่ารองน้ำมนต์ จากมวยผมพระแม่ธรณีมาผสมน้ำอาบที่บ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล