พระสารีบุตรเถระ อัครสาวกเบื้องขวา

พระสารีบุตรเถระ

พระสารีบุตรเถระ อัครสาวกเบื้องขวา ผู้กราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัย เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม

พระสารีบุตรเถระ

พระสารีบุตร เป็นชาวเมืองราชคฤห์โดยกำเนิด มารดาท่าน คือนางสารีพราหมณี บิดาท่านนามว่า วังคันตพราหมณ์ เป็นนายบ้านอุปติสสะคาม

อุปติสสะมีสหายรักคนหนึ่งนาม โกลิตะ เป็นบุตรแห่งบ้านโกลิตะคาม ทั้งสองเป็นเพื่อนเที่ยว เพื่อนกิน หาความสำราญจากการดูการละเล่น มหรสพต่างๆ ตามประสาลูกผู้มีอันจะกิน

วันหนึ่ง หลังจากไปดูมหรสพที่เล่นอยู่บนยอดเขา เกิดความเบื่อหน่าย เห็นว่าชีวิตนี้ไร้แก่นสาร จึงชวนกันไปสมัครเป็นศิษย์ของอาจารย์สัญชัยเวลัฏฐบุตร

สัญชัยเวลัฏฐบุตร เป็นเจ้าสำนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงหนึ่งในบรรดา “ครูทั้ง ๖” คือ ปุรณกัสสปะ, นิครนถนาฏบุตร, มักขลิโคสาละ, อชิตเกสกัมพล, ปกุธกัจจายนะ, สัญชัยเวลัฏฐบุตร

ท่านได้ศึกษาอยู่กับอาจารย์สัญชัยเวลัฏฐบุตรอยู่ระยะเวลาหนึ่ง ก็จบความรู้ของอาจารย์ อาจารย์ชักชวนให้อยู่ช่วยสอนศิษย์รุ่นหลังๆ ต่อไป แต่ท่านกับสหายมีความรู้สึกว่า วิทยาการที่ได้รับถ่ายทอดจากอาจารย์ ยังไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุดที่นำพาให้พ้นจากความทุกข์ได้ จึงตกลงกันเงียบๆ กับโกลิตะผู้สหายว่า จะแยกย้ายกันไปแสวงหาอาจารย์ที่สอนแนวทางที่ดีกว่านี้ และให้สัญญากันว่าใครพบก่อนให้บอกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง

อุปติสสะได้พบพระอัสสชิเถระ น้องสุดท้องแห่งปัญจวัคคีย์ ขณะท่านกำลังออก “โปรดสัตว์” อยู่ เห็นอิริยาบถอันสำรวมน่าเลื่อมใส จึงคิดว่าท่านผู้นี้คงจะมีอุตริมนุสสธรรม (ธรรมอันยิ่งที่มนุษย์ทั่วไปไม่มี) จึงเข้าไปนมัสการขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง

พระสารีบุตรเถระ

พระเถระออกตัวว่า ท่านเป็นพระนวกะอยู่ แสดงธรรมโดยพิสดารไม่ได้ ท่านจึงขอให้พระเถระแสดงแต่พอสังเขป พระเถระได้แสดงคาถาอันเป็น “แก่น” แห่งอริยสัจ ๔ ว่า

เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุง ตถาคโต (อาห)
เตสัญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ

ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และการดับเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้

อุปติสสะได้ฟังคาถานั้นก็ได้ “ดวงตาเห็นธรรม” คือ บรรลุโสดาปัตติผล ท่านได้รีบไปกล่าวคาถานั้นแก่โกลิตะ โกลิตะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นกัน ทั้งสองจึงไปชวนอาจารย์ให้ไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า

เมื่ออาจารย์ปฏิเสธ จึงพากันไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ที่พระเชตวัน หลังจากบวชได้ ๑๔ วัน อุปติสสะ ซึ่งบัดนี้เพื่อนพรหมจารีเรียกขานในนาม “สารีบุตร” ก็ได้บรรลุพระอรหัต (ช้ากว่าโกลิตะ หรือ พระโมคคัลลานะ ๗ วัน)

การบรรลุธรรมของท่านค่อนข้างประหลาด คือ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เรื่อง เวทนาปริคคหสูตร โปรดทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลาน พระสารีบุตรอยู่ ณ ถ้ำสูกรชาตา (ถ้ำหมูขุด หรือ ถ้ำคางหมู) เชิงเขาคิชฌกูฏ ขณะนั้น พระสารีบุตรถวายงานพัดพระพุทธองค์อยู่ กำหนดตามกระแสพระธรรมเทศนาไปด้วย พอทรงแสดงธรรมจบ ท่านพระสารีบุตรก็ได้บรรลุพระอรหัต ในขณะที่ปริพาชกหลานท่านถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะเท่านั้น

การบรรลุธรรมของท่าน เปรียบเสมือนการบริโภคอาหารที่จัดเตรียมไว้เพื่อผู้อื่น ฉะนั้น และการบรรลุธรรมมีขึ้นในวันเดือนมาฆะพอดี

พระสารีบุตรเถระ

ณ ราตรีวันนั้น ได้มีการประชุมใหญ่อันเรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” (การประชุมใหญ่อันประกอบด้วยองค์) ณ พระเวฬุวัน พระพุทธองค์ได้ประทานโอวาทปาติโมกข์ (พระโอวาทอันเป็นหลักสำคัญ) แก่ที่ประชุม พระอรหันต์สาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูป

โอวาทปาติโมกข์นั้นมีทั้งหมด ๑๓ หัวข้อ สรุปลงเป็น ๔ ประเด็น คือ
๑. ว่าด้วยอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา (พระนิพพาน)
๒. ว่าด้วยหลักการทั่วไปของพระพุทธศาสนา (ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส)
๓. ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา (รู้ประมาณในโภชนะ อยู่อย่างสงัด เคร่งครัดในระเบียบวินัย ฝึกจิตอยู่เสมอ)
๔. ว่าด้วยเทคนิควิธีเผยแผ่พระพุทธศาสนา (ไม่ว่าร้ายเขา ไม่เบียดเบียนเขา มีความอดทน ใช้สันติวิธีในการประกาศพระพุทธศาสนา)

โอวาทปาติโมกข์นี้ ปราชญ์ไทยโบราณได้คัดเอาหลักการทั่วไป “ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส” มาเป็น “หัวใจ” พระพุทธศาสนา

เหตุการณ์วันที่ท่านพระสารีบุตรบรรลุพระอรหัต ได้กลายมาเป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงบัญญัติขึ้นและถือปฏิบัติมาจนบัดนี้

พระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม สามารถแสดงธรรมหักล้างความคิดเห็นผิด และทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้ความเข้าใจได้แจ่มแจ้ง เป็นผู้มีปัญญามากที่สุด รองจากพระพุทธองค์ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งจากพระพุทธองค์เป็น “อัครสาวกเบื้องขวา” เลิศกว่าผู้อื่นในทางปัญญาคู่กับพระโมคคัลลานะ พระอัครสาวกเบื้องซ้ายผู้เลิศในทางมีฤทธิ์

คุณธรรมที่เด่นของท่านพระสารีบุตร นอกจากความเป็นผู้มีปัญญามากแล้ว ท่านยังมีความกตัญญูกตเวทิตาธรรมเป็นเลิศอีกด้วย ท่านถือว่าพระอัสสชิเป็นอาจารย์รูปแรกที่นำท่านเข้ามาสู่ร่มเงาพระพุทธศาสนา ท่านจึงมีความเคารพในพระอาจารย์ของท่านมาก เวลาท่านจะนอน ถ้ารู้ว่าอาจารย์ของท่านอยู่ ณ ทิศใด ท่านจะหันศีรษะไปทางทิศนั้น

ภิกษุทั้งหลายที่ไม่ทราบความจริง พากันตำหนิท่านว่าเป็นถึงอัครสาวก ยังไหว้ทิศอยู่เหมือนสมัยเป็นคฤหัสถ์

ครั้งหนึ่ง มีพราหมณ์เฒ่าคนหนึ่ง นาม ราธะ อยากบวช แต่ไม่มีใครรับรอง พระสงฆ์จึงไม่สามารถบวชให้ได้ พระพุทธเจ้าตรัสถามในที่ประชุมสงฆ์ว่า มีใครรู้จักพราหมณ์คนนี้ไหม พระสารีบุตรกราบทูลว่า จำได้ว่าพราหมณ์คนนี้เคยใส่บาตรท่านทัพพีหนึ่ง ท่านรู้จัก จึงขอรับรอง พระพุทธองค์ทรงมอบภาระให้ท่านเป็นอุปัชฌาย์ บวชแก่ราธะพราหมณ์

หลังจากบวชแล้ว พระราธะได้เป็นสัทธิวิหาริกผู้ว่าง่ายรูปหนึ่ง นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งแสดงถึงความเป็นผู้มีกตัญญูกตเวทิตา แม้อุปการะเล็กน้อยท่านก็ยังเห็นความสำคัญ น่าเป็นแบบอย่างที่ดีของคนรุ่นหลัง

พระสารีบุตร ปรารถนาอยากให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน อำนวยประโยชน์แก่มหาชนอย่างกว้างขวาง จึงกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัย เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม ซึ่งพระองค์ก็ทรงทำเมื่อถึงเวลาสมควรในกาลต่อมา ท่านได้นำคำสอนของพระพุทธองค์จัดหมวดหมู่ตั้งแต่หมวดหนึ่ง หมวดสอง หมวดสาม … จนถึงหมวดสิบ และหมวดเกินสิบ ดังปรากฏอยู่ใน สังคีติสูตร และ ทสุตตรสูตร

ในเวลาต่อมา ท่านได้แสดงสังคีติสูตร และทสุตตรสูตร ท่ามกลางภิกษุสงฆ์จำนวนมาก และได้รับคำชมเชยจากพระพุทธองค์อีกด้วย

พระสารีบุตร จึงเป็นพระเถระรูปแรกที่คิดทำ “สังคายนา” พระธรรมวินัย แต่ยังไม่ทันสำเร็จดี ท่านก็ด่วนนิพพานไปก่อน พระมหากัสสปะจึงได้รับช่วงสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านจนสำเร็จบริบูรณ์ในกาลต่อมา

ในบั้นปลายชีวิต พระสารีบุตรพร้อมด้วยพระจุนทะน้องชาย ได้กลับไปยังตำบลนาลันทา บ้านเกิดของท่าน เพื่อโปรดมารดา ซึ่งยังไม่นับถือพระพุทธศาสนาให้บรรลุธรรม แล้วก็นิพพาน ณ ห้องที่ท่านถือกำเนิดนั่นเอง