พระโพธิสัตว์ หัวใจของโพธิสัตว์ ที่สุดของความเสียสละ

September 20, 2019 shantideva 0

บทบารมี 30 ทัศ คือ คุณสมบัติของ พระโพธิสัตว์ ตามคติเถรวาทซึ่งรุ่งเรืองอยู่ในประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ศรีลังการวมทั้งบังกลาเทศ และตอนนี้ก็ถูกรื้อฟื้นคืนกลับมาใหม่ในประเทศอินเดีย ประเทศในแถบที่เราเรียกกันว่าสุวรรณภูมิหรืออินโดจีน เป็นประเทศที่โอบกอดเอาพระพุทธศาสนาไว้หลังจากที่สูญหายไปจากผืนแผ่นดินมาตุภูมิ คือประเทศอินเดีย พระพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองอยู่ในแถบเอเชียอาคเนย์ รวมทั้งประเทศไทยเรานี้ เป็นพระพุทธศาสนาสายเถรวาท และในคติแบบเถรวาท ผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต้องผ่านการบำเพ็ญบารมี ซึ่งช่วงที่บำเพ็ญบารมีนั้นเราเรียกว่าเป็นพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ แปลว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตรัสรู้ ผู้ที่ตั้งปณิธานว่าจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันหนึ่งข้างหน้า และทันทีที่ตั้งปณิธานและได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง จากนั้นเป็นต้นไปจนกระทั่งถึงนาทีก่อนตรัสรู้ เราเรียกท่านว่า “พระโพธิสัตว์” เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ก็จะต้องมีจรรยาของพระโพธิสัตว์ อะไรคือจรรยาของพระโพธิสัตว์ คำตอบก็คือบารมี 10 ทัศนั่นเอง บารมี 10 ทัศหรือบารมี 10 ประการนั้น แต่ละประการจะต้องบำเพ็ญ 3 ระดับ คือระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูงสุด เช่น ทานบารมี ทานอุปบารมี ทานปรมัตถบารมี ทานบารมีหรือบารมีขั้นต้น เช่น ให้ข้าวให้ของ ให้เงินให้ทอง ให้เสื้อผ้า ให้ข้าวปลาอาหาร ทานอุปบารมี เช่น ให้อวัยวะ บริจาคดวงตา บริจาคเลือด บริจาคไตอุทิศร่างกายหลังจากตัวเองล่วงลับดับขันธ์ ทานปรมัตถบารมีเป็นบารมีขั้นอุกฤษฏ์หรือขั้นสูงสุด เช่น ให้ชีวิตเป็นทาน ได้แก่การยกชีวิตตัวเองให้เป็นทานเพื่อความอยู่รอดของคนอื่น ซึ่งทำได้ยากมาก เพราะต้องวางชีวิตของตัวเองเป็นเดิมพัน ฉะนั้น ในทุกภพทุกชาติที่พระโพธิสัตว์เสวยชาตินั้น ท่านก็จะบำเพ็ญบารมีเหล่านี้จึงได้เห็นบางภพบางชาติที่ท่านอุทิศชีวิตของตัวเองเพื่อให้ผู้ที่ยังเหลือมีชีวิตรอด อาตมภาพขออธิบายเรื่องพระโพธิสัตว์ผ่านนิทานเรื่องหนึ่ง ดังนี้ พระชาติหนึ่งได้เสวยพระชาติเป็นพญาวานร ณ ที่แห่งนี้มีต้นมะม่วงอยู่ต้นหนึ่งในปีหนึ่งมะม่วงจะสุกหนึ่งครั้ง พญาวานรก็พาหมู่คณะขึ้นไปเด็ดมากิน อยู่มาวันหนึ่ง มะม่วงผลหนึ่งหลุดตกลงไปในลำธาร ไหลละล่องท่องน้ำไปจนถึงปลายน้ำ พระราชาสรงสนานอยู่กับข้าราชบริพาร ทรงพบเห็นมะม่วงจึงหยิบมาเสวยทันทีที่พระชิวหากระทบรสชาติของมะม่วงก็ถึงกับทรงรำพึงออกมาว่า “ทำไมช่างโอชารสถึงเพียงนี้” จึงมีรับสั่งให้เสนาอำมาตย์ข้าราชบริพารส่งจารบุรุษตามน้ำขึ้นไปจนถึงถิ่นของพญาวานร เมื่อเจอแล้วทรงยกกองทัพยาตราขึ้นไป เพื่อจะไปดูว่าต้มะม่วงที่มีผลแสนโอชารสนั้นอยู่ตรงไหน เมื่อขึ้นไปถึง เหล่าวานรพากันแตกตื่นตกใจหนีไม่ทัน กองทัพของพระราชาแวดล้อมต้นมะม่วงไว้ เหล่านายทหารง้างคันศรปล่อยลูกธนูหลุดจากแล่งพุ่งไปทิ่มแทงวานรตายไปกว่าครึ่ง พระโพธิสัตว์ในพระชาตินั้นตัดสินใจบำเพ็ญปรมัตถบารมีให้ชีวิตเป็นทานเห็นว่าถ้าปล่อยให้หนีกันตามสัญชาตญาณคงจะตายกันทั้งหมดเป็นแน่ พระโพธิสัตว์จึงทรงตัดสินใจใช้พละกำลังของตัวเองกระโดดข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อจะขึงเถาวัลย์กับคาคบไม้ของฝั่งนั้น แต่ปรากฏว่าเถาวัลย์สั้นขึงไม่ถึง เหลืออีกประมาณสักหนึ่งช่วงตัวตีว่าหนึ่งวา พญาวานรก็เลยเอาตัวเองทำเป็นเชือกหนึ่งช่วงตัวนั้น โดยใช้ขาข้างหนึ่งเกาะกิ่งไม้ฝั่งโน้นไว้ และใช้มืออีกสองข้างขึงเชือกดึงจนตึงจนสุดศักยภาพของเชือกเส้นนั้น แล้วก็ร้องเรียกให้บริษัทบริวารห้อยโหนผ่านเส้นเชือกนั้นข้ามแม่น้ำจากฟากหนึ่งไปยังอีกฟากหนึ่ง ทรงอุทิศตนด้วยการวางชีวิตเป็นเดิมพัน ให้บริษัทบริวารเหยียบตัวเองแทนเส้นเชือก ระหว่างนั้นพระราชาทรงทอดพระเนตรเห็นความเสียสละของพระโพธิสัตว์ เกิดธรรมสังเวชอันใหญ่หลวงว่า “เราเป็นถึงพระราชาก็ยังไม่มีภาวะผู้นำถึงขนาดนี้ ดูพญาวานรตัวนี้สิ ยังมีภาวะผู้นำสูงกว่าเราซึ่งเป็นพระราชามหากษัตริย์เสียอีก” พระราชาทรงสลดพระทัยเหลือประมาณ จึงมีรับสั่งให้ข้าราชบริพารหยุด ประหัตประหารพญาวานร และนี่ก็คือพระชาติหนึ่งที่พระโพธิสัตว์อุทิศชีวิตเป็นทานเรียกว่า บำเพ็ญปรมัตถบารมี ฉะนั้น ที่เรามาสวดมนต์กันทุกเช้าทุกเย็นนี้ ถ้าเราทำความเข้าใจให้ดีและปฏิบัติให้เป็น เราทุกคนก็กำลังเดินอยู่บนหนทางของพระโพธิสัตว์แล้ว ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติบารมีครบทั้ง 10 ประการก็ได้ ปฏิบัติเพียงทานข้อเดียว ก็ทำให้ได้รับอานิสงส์กว้างไกลไพศาล ทานในเบื้องต้นเป็นการกำจัดความตระหนี่ ในเบื้องกลางจะช่วยยกระดับคุณภาพจิต และในเบื้องสูงทำให้เราลอยพ้นจากการเห็นแก่ตัว การให้โดยไม่มีอัตตาของตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องในทุกมิตินับเป็นทานบารมีขั้นสูง เพราะเป็นการให้โดยไม่หวังว่าจะได้รับอะไรตอบแทน ดังหนึ่งต้นจันทน์หรือไม้จันทน์หอมนั่นเอง ไม้จันทน์หอมเป็นไม้มงคล ปราชญ์ท่านหนึ่งเขียนว่า อันธรรมดาของไม้จันทน์-หอมนั้น เมื่อยังยืนต้นเป็นไม้ใหญ่ไพรระหงก็ให้ร่มให้เงาแก่มนุษย์และนกหนูหูปีกที่ได้บินมาพึ่งพาอาศัย ครั้นใครคนใดคนหนึ่งที่ได้มาพึ่งพาร่มเงานั้นเกิดอึดอัดขัดเคืองมีความโกรธต่อต้นจันทน์ ยกขวานขึ้นมาจามสองสามฉับ แล้วแบกขวานหนีไปแทนที่ต้นจันทน์จะโกรธเคือง ก็ยังอุตส่าห์ ให้กลิ่นหอมติดขวานไปอีก…นี่ละคือจรรยาของพระโพธิสัตว์ นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาท่านหนึ่งนิยามจรรยาของพระโพธิสัตว์เอาไว้ง่าย ๆ ว่าอัชฌาศัยที่ทนไม่ได้เพราะกรุณาคือลักษณะของมหาบุรุษ ใครก็ตามที่เห็นคนอื่นตกทุกข์ได้ยากแล้วอดรนทนไม่ได้ ต้องลุขึ้นมาหาทางช่วยเหลือเกื้อกูลโดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง คนคนนั้นเราเรียกว่ามีอัชฌาศัย ของมหาบุรุษ มหาบุรุษก็คือคนที่เป็นมหาษัทก็คือผู้ที่เป็นพระโพธิสัตว์ เราทุกคนสามารถเป็นพระโพธิสัตว์ได้ในชีวิตนี้ ขอเพียงเรามีจิตวิญญาณของการเป็นพระโพธิสัตว์ นั่นคือ เห็นคนอื่นตกทุกข์ได้ยากแล้วอดรนทนไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาช่วยเหลือตามแต่ศักยภาพของตัวเองจะทำได้ ที่เรามาสวดมนต์กันทุกเช้าทุกเย็นนี้ถ้าเราทำความเข้าใจให้ดีและปฏิบัติให้เป็นเราทุกคนก็กำลังเดินอยู่บนหนทางของพระโพธิสัตว์แล้ว

องค์ประกอบของศาสนาพุทธ

September 19, 2019 shantideva 0

การพิจารณาความหมายของศาสนา นักวิชาการได้แบ่งองค์ประกอบของศาสนาเป็น 6 ประการ ประกอบด้วย 1. ผู้ก่อตั้ง หรือ ศาสดา ซึ่งผู้ก่อตั้งศาสนาพุทธ คือเจ้าชายสิทธัตถะ ได้ออกบวชเป็นโยคีสิตธัตถะแล้วศึกษาหาความรู้ บำเพ็ญเพียรด้วยความวิริยะอุตสาหะ แสวงหาโมกขธรรมจนค้นพบสัจธรรม ตรัสรู้เป็นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย แล้วประกาศศาสนาครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน 2. หลักคำสอน หรือศาสนธรรม ทุกศาสนาต้องมีหลักคำสอนเป็นสารัตถะ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัต ิในการดำเนินชีวิตในสังคมและหาเป้าหมายสุดท้ายของชีวิต ทางพุทธศาสนาเรียก นิพพาน หลักคำสอนของศาสนาพุทธเรียกว่า พระธรรม โดยมีการบันทึกลายลักษณ์อักษรเป็นคัมภีร์ เรียกว่าพระไตรปิฎก นักบวช สาวก 3. นักบวช สาวก หรือ ศาสนบุคคล ศาสนาพุทธได้มีการสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็เพราะการปฏิบัติ การศึกษาและการเผยแผ่ของพระสงฆ์ เป็นหลัก 4. ศาสนิกชน ผู้นับถือศาสนาพุทธ เราเรียกว่า พุทธศาสนิกชน หมายถึงผู้ที่เลื่อมใส พระรัตนตรัย แล้วศึกษาหลักคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต 5. ศาสนสถาน ศาสานวัตถุ หรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา หมายถึง สถานที่ที่ปรากฎในพุทธประวัติ อันได้แก่สังเวชชนียสถาน หรือสถานที่ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม ทางพุทธศาสนา อันได้แก่ วัด โบสถ์ วิหาร เจดีย์ ศาลาการเปรียญ หอไตร เป็นต้น 6. พิธีกรรม หรือพุทธศาสนพิธี หมายถึงกิจกรรม ของพุทธบริษัทต้องปฏิบัติเพื่อดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา อาทิ การอุปสมบท การทอดผ้าป่า การทอดกฐิน การทำบุญตักบาตรในทุก ๆ วัน หรือในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ตกลงว่า “พราหมณ์” หรือ “ฮินดู” หรือชื่ออะไรกันแน่?

September 7, 2019 shantideva 0

“ชื่อ” ศาสนาที่มักใช้ว่าพราหมณ์-ฮินดูในงานเขียนของผม ต้องใช้พราหมณ์หรือฮินดูกันแน่? แล้วต่างกันยังไง? ทำไมไม่ใช้สักอัน หรือต้องใช้ทั้งสองอัน? คำถามที่ดูพื้นๆ แต่ไม่พื้นนี้ ถูกยกมาถามโดยคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เมื่อครั้งที่ท่านส่งคำถามมาถึงผม จากเดิมที่ผมไม่ได้คิดมาก่อนว่าคำถามนี้น่าจะตอบและสำคัญ เพราะมันช่วยให้เห็นความเป็นมาและความซับซ้อนในตัวเองของศาสนาฮินดู และที่ยิ่งไปกว่านั้น คนฮินดูในอินเดียเองกลับไม่เรียกศาสนาของตนว่าศาสนาฮินดูด้วยซ้ำ ซึ่งชวนให้งุนงงยิ่งขึ้นไปอีก ปกติการใช้ชื่อศาสนา มักใช้ชื่อของศาสดาหรือสิ่งที่ศาสนานั้นเคารพ เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาไชนะ หรือไม่ก็ใช้คำที่ถูกเลือกมาแล้ว เช่น อิสลาม ที่หมายถึงสันติ ในอินเดีย มักเรียกศาสนาด้วยคำว่า “ธรรม” (ธรฺม) เช่น เรียกพุทธศาสนาว่า เพาทธธรรม ศาสนาไชนะว่า ไชนธรรม โดยคำว่าธรรม มีความหมายหลายนัย หมายถึงศาสนา หลักคำสอน การปฏิบัติตามหน้าที่ หรือหมายถึงหลักจริยธรรมทางศาสนาก็ได้ คำว่าธรรม มาจากธาตุ “ธฺรี” หมายถึง ทรงไว้ รักษาไว้ ชาวฮินดูในอินเดียเรียกศาสนาของตนเองว่า “สนาตนธรรม” ซึ่งหมายถึงศาสนาอันมีมาแต่โบราณไม่เปลี่ยนแปลง (สนาตนะ ไม่เปลี่ยนแปลง, เก่าแก่) เพราะเขาเชื่อว่าศาสนาของตนเองนั้นมีมาแต่โบราณกาล ในเชิงประวัติศาสตร์ก็ว่าตั้งแต่สมัยพระเวท (vedic period) คือสามพันห้าร้อยปีถึงสี่พันปีที่แล้ว ในทางตำนานก็ว่าสืบทอดจากพระวิษณุมายังบรมฤษีและกษัตริย์ต่างๆ จนมาถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ นอกจาก “สนาตนธรรม” ที่มักใช้กันอย่างเป็นทางการแล้ว จึงมีการเรียกว่า “ไวทิกธรรม” ซึ่งหมายถึง “ศาสนาพระเวท” อันหมายถึงหมวดคำสอนโบราณของฮินดู หรือมีผู้เรียกว่า “วิษณุธรรม” เพราะเชื่อว่าศาสนานี้สืบทอดมาจากพระวิษณุก็มี ผมเคยเห็นผ่านตาคลับคล้ายคลับคลาว่า มีชื่อ “อารยธรรม” ในเอกสารของกรมการศาสนาในบ้านเราด้วย และใช้เป็นชื่อทางการ เห็นท่านว่าเรียกชื่อนี้ เพราะถือว่าศาสนานี้มาจากชาวเผ่า “อารยัน” ซึ่งคือคนกลุ่มที่นำพระเวทมาสู่ดินแดนอินเดีย ส่วนคำที่เราคุ้นเคยกันอย่างพราหมณ์-ฮินดูนั้น นักวิชาการอินเดียเห็นว่าที่จริงสองคำนี้อาจแยกกันได้ เพราะแสดงถึงพัฒนาการคนละช่วงเวลาของศาสนา ศาสนาพราหมณ์ (Brahmanism) ในเอ็นไซโคลพีเดียบริเตนนิกา หมายถึงศาสนาฮินดูโบราณ ซึ่งอยู่ในยุคพระเวทราวหนึ่งพันปีก่อนคริสตกาล ศาสนาพราหมณ์เน้นความสำคัญของผู้ประกอบพิธีที่เรียกว่า “พราหมณ์” เน้นความสำคัญของการประกอบพิธีกรรมที่ปรากฏในพระเวท และบูชาเทพเจ้าที่ปรากฏในพระเวท ในช่วงศตวรรษที่สิบเก้า นักภารตวิทยากำหนดคำนี้เพื่อแสดงถึงพัฒนาการของศาสนาที่จะกลายมาเป็นศาสนาฮินดูในภายหลังหรือแสดงว่าเป็นศาสนาที่อาจแยกออกมาได้จากฮินดู แต่ชาวฮินดูส่วนมากถือว่าศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาเดียวกันกับฮินดู ศาสนาฮินดู (Hinduism) ถ้าอธิบายในเชิงประวัติศาสตร์ นักวิชาการเห็นว่าเริ่มต้นขึ้นในราว 550 หรือ 450 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งตกอยู่ในช่วงใกล้เคียงพุทธกาล การเปลี่ยนแปลงจากพราหมณ์มาสู่ฮินดู โดยหลักใหญ่คือการเปลี่ยนแปลงแนวคิดเกี่ยวกับเทพเจ้าในพระเวทมาสู่การนับถือเทพเจ้าที่สำคัญ “มหาเทพ” สององค์ได้แก่พระวิษณุและพระศิวะ และการท้าทายอำนาจของพราหมณ์ การให้ความสำคัญของการสละโลกซึ่งปรากฏในคัมภีร์อุปนิษัท กระนั้นชื่อ “ฮินดู” (Hindu) กลับไม่ปรากฏในเอกสารโบราณของศาสนาฮินดูเอง เพราะชื่อนี้ไม่ได้เป็นภาษาสันสกฤตแท้ แต่เพี้ยนมาจากคำ “สินธุ” (Sindhu) ซึ่งเป็นชื่อแม่น้ำทางตอนเหนือของอินเดียและอารยธรรมในลุ่มน้ำนั้นในภาษาเปอร์เซียโบราณ ภาษานี้มักเปลี่ยน ส เป็น ห เช่น อสูร เป็น อหูร คำ “ฮินดู” ปรากฏในราวหกร้อยปีก่อนคริสตกาลในจารึกของกษัตริย์ดาริอุสที่หนึ่งแห่งเปอร์เซีย มีความหมายเชิงภูมิศาสตร์ถึงกลุ่มคนที่อาศัยในลุ่มน้ำสินธุ มิได้หมายถึงศาสนาและความเชื่อใด ในบันทึกของพระเสวียนจ้าง ราวคริสต์ศตวรรษที่เจ็ด กล่าวว่าคำนี้เป็นชื่อประเทศ ซึ่งมาจากชื่อของพระจันทร์ (อินทุ – Indu) หลังจากนั้น “ฮินดู” ยังคงมีความหมายในทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม กว่าคำว่าฮินดูจะหมายถึงศาสนาฮินดู ก็ตกล่วงมาถึงราวคริสต์ศตวรรษที่สิบสี่แล้ว โดยปรากฏในวรรณกรรมของฝ่ายมุสลิม โปรดสังเกตนะครับว่า ฮินดูเป็นการเขียนตามเสียง (Hindu) ที่จริงหากเขียนตามตัวอักษรควรเขียนว่า “หินทู” แต่ในบ้านเราไม่คุ้นเคยและไม่มีใครใช้ ดังนั้น ฮินดู-ฮินด์-อินเดีย คำนี้มาจากรากเดียวกันนะครับ มีความหมายเชื่อมโยงกัน และที่สำคัญ ถูกเรียกโดย “คนอื่น” (เปอร์เซีย ชาวมุสลิมอื่น และฝรั่ง) ดังนั้น ความสำนึกว่าชื่อศาสนาของตนเองโดนเรียกโดยคนอื่นจึงทำให้ชาวฮินดูพยายามไม่เรียกศาสนาของตนเองว่าฮินดู แต่ใช้ “สนาตนธรรม” ดังที่กล่าวมา แต่เอาเข้าจริงแล้ว แม้คำว่าสนาตนธรรมจะมีปรากฏในคัมภีร์โบราณ เช่น มนูสมฤติและภาควัตปุราณะ โดยมีความหมายถึงกฎเกณฑ์ของจักรวาล แต่คำนี้ถูกเน้นย้ำและรณรงค์ให้ใช้ในความหมายถึงศาสนาฮินดู ช่วงการปฏิรูปศาสนาต้นศตวรรษที่สิบเก้า ภายใต้ขบวนการศาสนาและชาตินิยมอินเดีย เพื่อปฏิเสธการใช้คำจากภาษาและวัฒนธรรมอื่น ศาสนาฮินดูจึงไม่มีคำเรียกที่เป็นทางการใช้ร่วมกันมาตั้งแต่โบราณ โดยมากมักเป็นแต่คำเรียกกลุ่มก้อน นิกาย หรือขบวนการทางศาสนาเสียมากกว่า ในเมืองไทยนี่ก็ซับซ้อนไม่แพ้กันครับ เราไม่น่าจะรู้จัก “ศาสนาฮินดู” เพราะเราเรียกศาสนานี้ว่า “ไสย” มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ไสยศาสน์ (ไม่ใช่ไสยศาสตร์นะครับ) หมายถึงศาสนาพราหมณ์ และใช้เรียกมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏในเอกสารสมัยรัชกาลที่สี่ยังเรียกเทวรูปพราหมณ์ เทวรูปพระไสยศาสตร์ (ตามคำสะกดเก่า) อยู่เลย ส่วนคำฮินดู หรือพราหมณ์ฮินดู แม้มีปรากฏในจารึกวัดพระเชตุพน ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ไม่ได้ใช้ในความหมายถึงศาสนาใด แต่ใช้เรียกคนจากอินเดียภาคเหนือ …..อ่านต่อ

วันแห่งความรักในพระพุทธศาสนา

September 6, 2019 shantideva 0

วันแห่งความรัก ที่รู้จักกันดีในปัจจุบันนั้น ทุกคนมักจะคุ้นเคยกับวันวาเลนไทน์ ซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญสำหรับคนหนุ่มสาว ที่ต่างฝ่ายจะเตรียมมอบของขวัญพิเศษ หรือแสดงความรักต่อกันในวันนี้ โดยหวังว่า จะได้รับความพึงพอใจจากคนที่ตนรัก และเป็นการแสดงความรักเพื่อตอบสนองความปรารถนาองตนเอง หรืออีกนัยหนึ่งคือ ตามความเชื่อทางคริสต์ศาสนาที่รำลึกถึงนักบุญวาเลนไทน์ ผู้เสียสละชีวติตนเองเพื่อให้คนหนุ่มสาวได้แต่งงานกัน ในอดีตที่เคยห้ามไม่ให้คนหนุ่มสาวแต่งงานกัน เพราะต้องเกณฑ์ชายหนุ่มไปทำสงครามในทางพระพุทธศาสนา หากจะมองเอา วันแห่งความรักที่แท้จริง ก็คงเปรียบได้กับวัน มาฆบูชา ที่มีความสำคัญ เป็นวันจาตุรงคสันนิบาตร คือ เป็นวันเพ็ญเดือน 3 ,มีพระสงฆ์ 1,250 รูปมาประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมาย,พระสงฆ์ทั้งหมดเหล่านั้นล้วนได้บบรลุธรรมเป็นอรหันต์รับอภิญญา 6, และเป็นพระสงฆ์ที่พระพุทธองค์เป็นผู้บรรพชาให้และที่สำคัญมากกว่านั้นคือ พระพุทธเจ้ายังได้แสดงโอวาทปาติโมกข์ ที่ถือว่าเป็นการวางรากฐานประกาศหลักธรรมไว้ให้กับพุทธศาสนิกชนคนรุ่นหลังได้นำมาศึกษาปฏิบัติ ว่าด้วยเรื่องของ หลักการของพระพุทธศาสนา คือ ละชั่ว ทำดี (ทั้งกาย วาจา ใจ) ทำจิตใจให้ผ่องบริสุทธิ์ผ่องใส เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อป้องกัน แก้ปัญหาต่างๆ จนนำไปสู่ความหลุดพ้น จากหลักการนี้ จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนถึง ความปรารถนาของพระพุทธองค์ที่มุ่งให้มนุษยชาติได้พ้นทุกข์ และนี่คือ ความรักที่แท้จริงนอกจากนี้ ยังมีหลักธรรมที่สอนให้มนุษย์มีความรักในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ตามแนวทางพระพุทธศาสนา เป็นความรักที่บริสุทธิ์ปราศจากเงื่อนไข ไม่หวังที่จะนำตนเองเป็นศูนย์กลางหรือการสนองความต้องการของตนเองเป็นหลัก แต่กลับมุ่งให้ประพฤติตนเพื่อให้ผู้อื่นพ้นทุกข์จากการที่ต้องมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม และให้เราเป็นที่พึ่งของผู้อื่น ตามหลักของ พรหมวิหาร 4 คือเมตตา คือ ความรักที่เกิดจากการมองแง่ดี ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข แม้จะไม่ใช่มิตรของตนเองกรุณา คือ การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ขณะที่มีความทุกข์ ด้วยความปรารถนาให้เค้าพ้นทุกข์ที่เขาประสบอยู่ ทั้งทางกายและทางใจมุฑิตา คือ การยินดีต่อผู้อื่นเมื่อทำความดี ประสบความสำเร็จ ปราศจากความอิจฉาริษยาอุเบกขา คือ การปล่อยวาง เมื่อเกิดความรักต่อกันแล้วต้องปล่อยวางและพึงระลึกอยู่เสมอว่า คนเราทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมรับผลแห่งความชั่ว ไม่ควรดีใจหรือเสียใจหรือซ้ำเติม ควรให้โอกาสได้ปรับปรุงตนให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมจากหลักธรรมดังกล่าว หากจะเปรียบน้ำที่บริสุทธิ์ใสเย็นเป็นที่พึ่งพาของสรรพสัตว์ในการดื่มกินดับกระหายร้อนฉันใด หลักธรรมของพระพุทธองค์ก็เปรียบเหมือนเครื่องขัดเกลาดับกิเลสของมนุษย์ ที่ดำรงชีวิตด้วยความทุกข์ทรมาน เพราะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ฉันนั้น เพราะฉะนั้น จึงพอสรุปได้ว่า วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรักที่แท้จริง ที่พระพุทธองค์ได้แสดงไว้ เราในฐานะพุทธศาสนิกชน พึงนำเอาหลักธรรมนี้ มาน้อมนำสู่ตน เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น ได้ตั้งแต่ระดับบุคคลกับบุคคล ไปจนถึงครอบครัว สังคมและประเทศชาติด้วยการละเว้นการทุจริตทั้งปวง และมีความปรารถนาดีมีเมตตาต่อกัน