วันแห่งความรักในพระพุทธศาสนา

วันแห่งความรัก ที่รู้จักกันดีในปัจจุบันนั้น ทุกคนมักจะคุ้นเคยกับวันวาเลนไทน์ ซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญสำหรับคนหนุ่มสาว ที่ต่างฝ่ายจะเตรียมมอบของขวัญพิเศษ หรือแสดงความรักต่อกันในวันนี้ โดยหวังว่า จะได้รับความพึงพอใจจากคนที่ตนรัก และเป็นการแสดงความรักเพื่อตอบสนองความปรารถนาองตนเอง หรืออีกนัยหนึ่งคือ ตามความเชื่อทางคริสต์ศาสนาที่รำลึกถึงนักบุญวาเลนไทน์ ผู้เสียสละชีวติตนเองเพื่อให้คนหนุ่มสาวได้แต่งงานกัน ในอดีตที่เคยห้ามไม่ให้คนหนุ่มสาวแต่งงานกัน เพราะต้องเกณฑ์ชายหนุ่มไปทำสงคราม

ในทางพระพุทธศาสนา หากจะมองเอา วันแห่งความรักที่แท้จริง ก็คงเปรียบได้กับวัน มาฆบูชา ที่มีความสำคัญ เป็นวันจาตุรงคสันนิบาตร คือ เป็นวันเพ็ญเดือน 3 ,มีพระสงฆ์ 1,250 รูปมาประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมาย,พระสงฆ์ทั้งหมดเหล่านั้นล้วนได้บบรลุธรรมเป็นอรหันต์รับอภิญญา 6, และเป็นพระสงฆ์ที่พระพุทธองค์เป็นผู้บรรพชาให้

และที่สำคัญมากกว่านั้นคือ พระพุทธเจ้ายังได้แสดงโอวาทปาติโมกข์ ที่ถือว่าเป็นการวางรากฐานประกาศหลักธรรมไว้ให้กับพุทธศาสนิกชนคนรุ่นหลังได้นำมาศึกษาปฏิบัติ ว่าด้วยเรื่องของ หลักการของพระพุทธศาสนา คือ ละชั่ว ทำดี (ทั้งกาย วาจา ใจ) ทำจิตใจให้ผ่องบริสุทธิ์ผ่องใส เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อป้องกัน แก้ปัญหาต่างๆ จนนำไปสู่ความหลุดพ้น จากหลักการนี้ จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนถึง ความปรารถนาของพระพุทธองค์ที่มุ่งให้มนุษยชาติได้พ้นทุกข์ และนี่คือ ความรักที่แท้จริง

นอกจากนี้ ยังมีหลักธรรมที่สอนให้มนุษย์มีความรักในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ตามแนวทางพระพุทธศาสนา เป็นความรักที่บริสุทธิ์ปราศจากเงื่อนไข ไม่หวังที่จะนำตนเองเป็นศูนย์กลางหรือการสนองความต้องการของตนเองเป็นหลัก แต่กลับมุ่งให้ประพฤติตนเพื่อให้ผู้อื่นพ้นทุกข์จากการที่ต้องมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม และให้เราเป็นที่พึ่งของผู้อื่น ตามหลักของ พรหมวิหาร 4 คือ

เมตตา คือ ความรักที่เกิดจากการมองแง่ดี ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข แม้จะไม่ใช่มิตรของตนเอง
กรุณา คือ การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ขณะที่มีความทุกข์ ด้วยความปรารถนาให้เค้าพ้นทุกข์ที่เขาประสบอยู่ ทั้งทางกายและทางใจ

มุฑิตา คือ การยินดีต่อผู้อื่นเมื่อทำความดี ประสบความสำเร็จ ปราศจากความอิจฉาริษยา
อุเบกขา คือ การปล่อยวาง เมื่อเกิดความรักต่อกันแล้วต้องปล่อยวางและพึงระลึกอยู่เสมอว่า คนเราทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมรับผลแห่งความชั่ว ไม่ควรดีใจหรือเสียใจหรือซ้ำเติม ควรให้โอกาสได้ปรับปรุงตนให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

จากหลักธรรมดังกล่าว หากจะเปรียบน้ำที่บริสุทธิ์ใสเย็นเป็นที่พึ่งพาของสรรพสัตว์ในการดื่มกินดับกระหายร้อนฉันใด หลักธรรมของพระพุทธองค์ก็เปรียบเหมือนเครื่องขัดเกลาดับกิเลสของมนุษย์ ที่ดำรงชีวิตด้วยความทุกข์ทรมาน เพราะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ฉันนั้น เพราะฉะนั้น จึงพอสรุปได้ว่า วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรักที่แท้จริง ที่พระพุทธองค์ได้แสดงไว้ เราในฐานะพุทธศาสนิกชน พึงนำเอาหลักธรรมนี้ มาน้อมนำสู่ตน เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น ได้ตั้งแต่ระดับบุคคลกับบุคคล ไปจนถึงครอบครัว สังคมและประเทศชาติด้วยการละเว้นการทุจริตทั้งปวง และมีความปรารถนาดีมีเมตตาต่อกัน